อำเภอท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ

Thatakiab พ.ศ. 2539 | อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา

Thatakiab ประวัติอำเภอท่าตะเกียบ เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอสนามชัยเขต ได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.2539 มีผลบังคับใช้ตั่งแต่วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2539  ผู้เฒ่าผู้แก่ในบ้านได้เล่าความเป็นมาของอำเภอท่าตะเกียบให้ฟังว่าคำว่า “ท่าตะเกียบ” มีความเป็นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทางกรุงเทพฯ ได้คิดทำการก่อสร้างเสาชิงช้าที่บริเวณหน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม และได้บอกตามหัวเมืองต่างๆ ที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ให้หาไม้แดงเอาไปทำไม้ตะเกียบเสาชิงช้า วัดสุทัศน์เทพวราราม บ้านท่ากลอยและบ้านวังวุ้งขณะนั้นเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ จึงได้รายงานไปทางกรุงเทพฯ ทางการจึงได้ส่งทหารมาดูเห็นไม้แดงงามจำนวน ๒ ต้น บริเวณป่าห่างจากบ้านท่ากลอยและบ้านวังวุ้งไปประมาณ ๑ กิโลเมตร เมื่อเลือกได้ไม้แดงตามที่ต้องการแล้ว ได้ทำการล่องไปตามคลองสียัดออกคลองท่าลาดและนำเข้ากรุงเทพฯ แต่เนื่องจากไม้แดงมีขนาดใหญ่ บริเวณที่ลากไม้ลงคลองสียัดจึงราบเรียบเป็นท่าน้ำ ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนั้นว่า ท่าลงไม้ตะเกียบและเพี้ยนมาเป็น “ท่าตะเกียบ” จนถึงปัจจุบันนี้

ขอขอบคุณ VDO จาก : Tour8riew Chachoengsao

แผนที่ อำเภอท่าตะเกียบ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอท่าตะเกียบ

ศาลเจ้าพ่อเขากา

ก่อนเที่ยวแวะสัการะ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ศาลเจ้าพ่อเขากา

น้ำตกบ่อทราย เขื่อนสียัด

สถานที่ท่องเที่ยว อ่างเก็บน้ำคลองสียัด และ น้ำตกบ่อทราย อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา

อำเภอท่าตะเกียบ
อำเภอท่าตะเกียบ

อ่างเก็บน้ำคลองสียัด หรือ เขื่อนสียัด ตั้งอยู่หมู่ 2 ตำบลท่าตะเกียบ เป็นเขื่อนดินเก็บกักน้ำเพื่อ การเกษตร ภูมิทัศน์ โดยรอบมีความสวยงาม สามารถเล่นน้ำ พายเรือ ตกปลา ขี่จักรยาน เดินป่า

อ่างสียัด

Thatabiab by khemthong Panuwat 5
อำเภอท่าตะเกียบ
อำเภอท่าตะเกียบ

โครงการคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา

ประโยชน์ของโครงการ

1. เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรกรรม
2. เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค
3. เป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ สร้างรายได้ให้เกษตรกร
4. ผลักดันน้ำเค็มที่หนุนเข้าแม่น้ำประแสร์
5. เพื่อป้องกันและลดความเสียหายจากน้ำท่วม
6. เป็นแหล่งท่องเที่ยว

วัตถุประสงค์

เพื่อจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการเพาะปลูกพืชในบริเวณเขตพื้นที่ชลประทานที่มีอยู่ในปัจจุบันได้แก่ โครงการ ส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าลาด และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาฝั่งซ้ายแม่น้ำบางปะกง รวมถึงพื้นที่ชลประทานที่จะทำการพัฒนาขึ้นมาใหม่ในพื้นที่บริเวณท้ายน้ำของอ่างเก็บน้ำคลองสียัด และบริเวณข้างเคียงกับโครงการส่งน้ำและ บำรุงรักษาฝั่งซ้ายแม่น้ำบางปะกง เพื่อจัดหาน้ำสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาและกุ้งน้ำจืดในเขตโครงการ เพื่อจัดหาน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาใช้ในชุมชน การอุตสาหกรรม และการอุปโภค-บริโภค ในเขตพื้นที่โครงการเพื่อเป็นการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำที่ไหลล้นมาจากพื้นที่รับน้ำของอ่างเก็บน้ำ โดยที่ตั้งโครงการ อยู่ที่ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา

ระยะเวลาก่อสร้าง

16 ปี (ปี 2537-2552)

งบประมาณทั้งโครงการ

4,016 ล้านบาท

ความเป็นมา

ลุ่มน้ำบางปะกงเป็นลุ่มน้ำประธานขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญมากของภาคตะวันออก มีพื้นที่ลุ่มน้ำ ประมาณ 17,600 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 11 ล้านไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา และชลบุรี แม่น้ำสายหลักของลุ่มน้ำบางปะกง ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของแม่น้ำสายใหญ่ 2 สาย คือ แม่น้ำนครนายกและแม่น้ำปราจีนบุรี ต้นแม่น้ำอยู่ที่อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ไหลเข้าสู่จังหวัดฉะเชิงเทรา ทางอำเภอบางน้ำเปรี้ยว ผ่านเข้าสู่อำเภอบางคล้า อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา อำเภอบ้านโพธิ์ และไหลลงสู่อ่าวไทยที่อำเภอบางปะกง ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงในลุ่มน้ำและรวมตัวกันไหลลงสู่แม่น้ำบางปะกงโดยเฉลี่ยประมาณ 7,930 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี และผลของการพัฒนาแหล่งน้ำภายในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำในระยะเวลาที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการก่อสร้างโครงการชลประทาน ทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางตามลำน้ำสาขาต่าง ๆ หลายแห่ง แต่สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์รวมกันได้เพียงประมาณ 94 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 1.2 ของปริมาณน้ำท่าของลุ่มน้ำในแต่ละปี ซึ่งนับได้ว่าน้อยมาก และยังมีปริมาณน้ำท่าที่ยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อีกมาก และกรมชลประทานได้รับมอบหมายให้ดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2539 ซึ่งให้ดำเนินการสำรวจออกแบบและก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำบางปะกงและสาขามีรายละเอียด ดังนี้

1. โครงการคลองระบมตอนล่าง จังหวัดฉะเชิงเทรา
2. โครงการพระปรง จังหวัดสระแก้ว
3. โครงการคลองสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา
4. โครงการห้วยไคร้ จังหวัดปราจีนบุรี
5. โครงการคลองพระสะทึง จังหวัดสระแก้ว
6. โครงการใสน้อย – ใสใหญ่ จังหวัดปราจีนบุรี
7. โครงการห้วยโสมง จังหวัดปราจีนบุรี
8. โครงการลำพระยาธาร จังหวัดปราจีนบุรี

ปัจจุบันพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดฉะเชิงเทรา และชลบุรี นอกจากเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับการพัฒนาเป็นศูนย์การลงทุนทางด้านอุตสาหกรรม และพานิชยกรรมตามแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ ก็คือปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำต้นทุนที่จะตอบสนองความต้องการใช้น้ำในด้านต่าง ๆ ทั้งการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูแล้ง นอกจากนี้ยังพบ ว่าในช่วงฤดูฝนนั้น ประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำต้องประสบปัญหาทางด้านอุทกภัยอยู่เนือง ๆ ดังนั้นการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อให้สามารถควบคุมปริมาณและจัดสรรทรัพยากรน้ำได้อย่างมี ประสิทธิภาพ และสามารถนำน้ำส่วนที่เหลือไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการป้องกันและบรรเทาภาวะความแห้งแล้งและอุทกภัยในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำจึงเป็นงานเร่งด่วนประการหนึ่ง

พื้นที่โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสียัดตั้งอยู่ในเขตบริเวณท้องที่ ตำบลท่าตะเกียบ ตำบลคลองตะเกรา อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา อ่างเก็บน้ำแห่งนี้จะสามารถเอื้ออำนวยปริมาณน้ำให้แก่กิจกรรมประเภทต่างๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองท่าลาด และลุ่มน้ำบางปะกงตอนล่าง โดยมีลำน้ำสาขาที่สำคัญ 2 สาย คือ คลองสียัดและคลองระบม ไหลมารวมตัวกันเป็นคลองท่าลาด แล้วไหลลงสู่แม่น้ำบางปะกงที่บริเวณตำบล ปากน้ำระบม อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา คลองท่าลาดมีความยาวประมาณ 33 กิโลเมตร มีฝายน้ำล้นสร้างปิดกั้นคลองท่าลาดที่บริเวณตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม ทั้งนี้เพื่อยกระดับให้สูงขึ้น สำหรับผันน้ำเข้าคลองส่งน้ำ ให้พื้นที่ชลประทานในเขตโครงการคลองส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าลาด สภาพพื้นที่ในส่วนที่อยู่เหนือฝายท่าลาด บางส่วนเป็นที่ราบ บางส่วนเป็นลูกคลื่นลอนลาดจนถึงสภาพภูเขา ความลาดของพื้นที่จะเพิ่มตามระดับพื้นดินที่สูงขึ้น มีระดับสูงจาก น้ำทะเลปานกลาง 5 – 8 เมตร จากสภาพ ดังกล่าวทำให้ตัวลำน้ำคลองสียัดมีลักษณะลึกชัน น้ำที่ไหลในคลองมีปริมาณมาก ไหลเชี่ยวในฤดูฝนและ ฤดูแล้งอย่างรวดเร็วภายหลังเกิดสภาพฝนทิ้งช่วงหรือเข้าสู่ฤดูแล้ง

สำหรับพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสียัด จะอยู่บริเวณท้ายน้ำของอ่างเก็บน้ำ ที่สามารถขยายเขตชลประทานเพิ่มขึ้นและพื้นที่ตอนท้ายของฝายท่าลาด ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าลาด สำหรับพื้นที่ที่อยู่ในเขตที่จะได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำคลองสียัดอีกแห่งหนึ่ง ได้แก่ พื้นที่บริเวณฝั่งซ้ายแม่น้ำบางปะกงพื้นที่ในส่วนนี้กล่าวโดยรวมได้ว่ามีพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาฝั่งซ้ายแม่น้ำบางปะกง ตั้งแต่จังหวัดฉะเชิงเทราขึ้นไปจนถึงอำเภอบางคล้า มีการทำสวน ผลไม้ ซึ่งมักจะเป็นสวนมะม่วง และที่ตั้งของฟาร์มเลี้ยงสุกรกระจายอยู่ทั่วไป ส่วนบริเวณใต้ตัวจังหวัดฉะเชิงเทราลงมา มีการเลี้ยงกุ้ง กุลาดำ ซึ่งเป็นการเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อยอยู่ในเขตอำเภอเมือง อำเภอบางปะกง อำเภอบ้านโพธิ์

บริเวณพื้นที่โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสียัด มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปี ประมาณ 1,400 มิลลิเมตร โดยมีฝนตกมากที่สุดใน เดือนกันยายน และน้อยที่สุดในเดือนธันวาคม ฝนจะเริ่มตกมากในเดือนพฤษภาคม และทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายน แล้วเริ่มตกชุกอีกครั้งตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม จากนั้นจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นลักษณะการกระจายของฝนที่ไม่สม่ำเสมอ ประกอบกับสภาพภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อมได้เปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องมาจากการพัฒนาท้องถิ่นที่มีการสร้างถนนและอาคารต่าง ๆ ปิดกั้นทางน้ำและคลองธรรมชาติที่มีอยู่เดิม จึงทำให้การระบายน้ำทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร นอกจากนี้ ป่าไม้บริเวณพื้นที่ต้นน้ำตอนบนของลุ่มน้ำถูกบุกรุกตัดไม้และถางป่าเพื่อทำการเพาะปลูกพืชไร่ สาเหตุดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหาน้ำไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่บริเวณชายฝั่งคลองท่าลาดทั้งสองฝั่งเป็นบริเวณกว้าง ขณะเดียวกัน ระดับน้ำในแม่น้ำบางปะกงมีระดับสูงทำให้การระบายน้ำเป็นไปได้อย่างช้า ๆ โดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม ปัญหาฝนทิ้งช่วงในฤดูการทำนาปีเกิดขึ้นบ่อย ครั้งและอยู่ในเกณฑ์ รุนแรง ทำให้เกิดความเสียหายต่อนาข้าวเป็นประจำ

ในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน น้ำเค็มจากทะเลจะหนุนย้อนกลับเข้ามาตามแม่น้ำบางปะกง ซึ่งเคยปรากฏว่า ในบางปีน้ำเค็มได้รุกล้ำขึ้นไปจนถึงจังหวัดนครนายก หรือห่างจากปากแม่น้ำเป็นระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร ทำให้น้ำในลำน้ำมีความเค็มสูงมาก ไม่สามารถนำไปใช้ในการอุปโภค – บริโภคได้ และดินในพื้นที่เพาะปลูกเสื่อมคุณภาพลง ส่วนใหญ่ในช่วงฤดูแล้งพื้นที่เพาะปลูกจะถูกปล่อยว่างไว้ ไม่ทำการเพาะปลูกเนื่องจากขาดน้ำ ในบริเวณพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาฝั่งซ้าย แม่น้ำบางปะกง ซึ่งเป็น โครงการประเภทป้องกันน้ำเค็มโดยเฉพาะในพื้นที่โครงการฯ ใต้ตัวจังหวัดฉะเชิงเทราลงไปในเขตอำเภอเมือง อำเภอบ้านโพธิ์ และอำเภอบางปะกง จะมีการก่อสร้างคันกั้นน้ำเค็มเป็นบางช่วงเท่านั้น ทั้งยังมีแนวโน้มว่า ไม่สามารถจะทำการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำเค็มให้สมบูรณ์ได้เนื่องจากราษฎรได้ทำฟาร์มกุ้งกันมากขึ้นเรื่อย ๆ

การพัฒนาแหล่งน้ำใต้ดิน การเจาะบ่อน้ำบาดาลเพื่อนำน้ำมาใช้ในการอุปโภค – บริโภคเป็นไปได้ยาก เนื่องจากคุณภาพของน้ำไม่ดีพอ ขณะเดียวกัน พื้นที่ที่สามารถเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ได้นั้น แม้ว่าคุณภาพของน้ำเหมาะสม แต่ก็มีปริมาณน้ำน้อย นอกจากนี้ พื้นที่บางส่วนในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบมและป่าสียัด ได้ถูกราษฎรบุกรุกเพื่อบุกเบิกเป็นพื้นที่เกษตรกรรม จนทำให้ดินมีคุณภาพต่ำ อัตราการกัดเซาะและการพังทลายของดินสูง จากปัญหาและข้อจำกัดต่างๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสียัดซึ่งกรมชลประทานและ JICA ได้ร่วมกันพิจารณาเลือกตำแหน่งที่จะก่อสร้างตัวเขื่อนอยู่ในลำน้ำคลองสียัด ห่างจากจุดที่ลำน้ำคลองสียัดบรรจบกับคลองระบมขึ้นไปทางเหนือน้ำเป็นระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร ในบริเวณกลุ่มบ้านตะเคียนแบน บ้านท่าคาน บ้านกรอกสะแก ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอสนามชัย เขตจังหวัดฉะเชิงเทรา

ลักษณะโครงการประกอบด้วย

โครงการประเภท อ่างเก็บน้ำ ตัวเขื่อนเป็นเขื่อนดิน ความจุน้ำของอ่างฯ ประมาณ 325 ล้านลูกบาศก์เมตร สันเขื่อนกว้าง 9.00 เมตร สูง 27.50 เมตร ยาว 2,460 เมตร ระดับสันเขื่อน +67.500 ม.รทก. ระดับน้ำเก็บกัก +63.100 ม.รทก. ระดับน้ำสูงสุด +65.450 ม.รทก. ระดับน้ำต่ำสุด +51.500 ม.รทก.
พื้นที่อ่างเก็บน้ำ ประมาณ 34,447 ไร่
ทำนบดินปิดช่องเขาขาดสูง 9.50 เมตร ยาว 360 เมตร พื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม ประมาณ 33,500 ไร่
พื้นที่โครงการทั้งหมด ประมาณ 35,500 ไร่
อาคารระบายน้ำ (RIVER OUTLET) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.00 เมตร ยาว 215.00 เมตร สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 67 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
อาคารระบายน้ำล้น (SPILLWAY) ยาว 400.00 เมตร สันฝายยาว 159.00 เมตร ความกว้างของช่องระบายน้ำ ประมาณ 51.00 เมตร สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 1,060 ลูกบาศก์เมตร/วินาที

ระบบส่งน้ำ

ตอนท่าลาดขยาย ประกอบด้วย คลองส่งน้ำพร้อมอาคารประกอบ 25 สาย ความยาว ประมาณ 131.58 กม.

ตอนท่าลาดปรับปรุง ประกอบด้วย คลองส่งน้ำพร้อมอาคารประกอบ 44 สาย ความยาว ประมาณ 214.40 กม.

ระบบระบายน้ำ คลองระบายน้ำพร้อมอาคารประกอบ 17 สาย ความยาว 17.50 กม.

อุทยานแห่งชาติ เขาอ่างฤาไน

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอ่างเขาฤาไน อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา รูปแบบการท่องเทียว – เป็นรูป แบบ นัดกันไปเทียว แบบชิวๆ สบายๆ -นอนกางเต๊นท์ รอบกองไฟ

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน

อำเภอท่าตะเกียบ

ประวัติความเป็นมาอ่างฤาไน

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบม – สียัด ซึ่งอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ติดกับบริเวณรอยต่อของจังหวัดปราจีนบุรี (ปัจจุบันจังหวัดสระแก้ว) จังหวัดจันทบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี ประกาศตามพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เมื่อ พ.ศ. 2520 รวมเนื้อที่ 67,562.5 ไร่ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 94 ตอนที่ 95 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2520 มีหน่วยพิทักษ์ป่า 4 หน่วย ทั้งนี้ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าไม่ให้ถูกทำลายเพิ่มขึ้นและหมดไป เพราะการเพิ่มของพลเมืองที่ต้องการพื้นที่เพื่อทำกินcละเก็งกำไร และเพื่อผลประโยชน์ต่างๆ ของตนเองโดยไม่คำนึงถึงผลเสียหายต่อส่วนรวมที่รุนแรงกว่าทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น เพื่อรักษาป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์ทั้งทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า และแหล่งต้นน้ำลำธารของรอยต่อ 5 จังหวัด โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ในพื้นที่รอยต่อ 5 จังหวัด จึงได้ดำเนินการให้รัฐบาลประกาศพระราชกฤษฎีกาขยายพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาอ่างฤาไน เพิ่มอีก 5 แสนกว่าไร่ รวมเป็น 643,750 ไร่ เมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยผนวกพื้นที่รอยต่อของจังหวัดสระแก้ว จังหวัดจันทบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี บางส่วนเข้ามาร่วมอยู่ด้วยและพื้นที่ดังกล่าวเดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติของจังหวัดนั้นๆ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 109 ตอนที่ 126 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2535 ปัจจุบัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน มีหน่วยพิทักษ์ป่าอยู่ทั้งหมด 16 หน่วยฯ ถาวร กับอีก 2 หน่วยฯ ชั่วคราว มีหน่วยงานอื่นของกรมป่าไม้อยู่ในพื้นที่ คือ สวนพฤกษศาสตร์ 100 ปี กรมป่าไม้ สถานีวิจัยสัตว์ป่าฉะเชิงเทรา ( ศูนย์วิจัยสัตว์ป่าภูไท) หน่วยจัดการต้นน้ำ 6 หน่วย และสถานีควบคุมไฟป่าภาคกลางที่ 3 ฉะเชิงเทรา (หน่วยควบคุมไฟป่าภูไท)

*** ประกาศในราชกิจจานุเบกษา: 11/10/2520[94/95] ***

ข้อมูลด้านกายภาพ

พื้นที่ : 67,562 ไร่ | ภูมิประเทศ

พื้นที่ตอนบนและตอนกลางของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลูกฟูก มีความลาดชันปานกลาง จึงเป็นบริเวณที่ราษฎรบุกรุกแผ้วถางและถือครองที่ดินกันมากก่อนที่จะมีการอพยพออกจากพื้นที่ ส่วนพื้นที่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูเขาสูง ความสูงของพื้นที่จากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 30 – 802 เมตร ยอดเขาสูงสุดอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขตฯ คือ เขาสิบห้าชั้น มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 802 เมตร พื้นที่ทางตอนใต้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาบรรทัด และเทือกเขาจันทบุรี ประกอบด้วยภูเขาที่มีความลาดชันต่อเนื่องกัน เช่น เขาอ่างฤาไน เขาใหญ่ เขาชะมูนและเขาชะอม เป็นต้น ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เป็นที่เกิดของลำห้วยและลำธารที่สำคัญหลายสาย ไหลลงสู่แม่น้ำสำคัญๆ คือ แควระบม – สียัด ที่ไหลไปรวมกับแม่น้ำบางประกง ที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา คลองลำพระเพลิงใหญ่ คลองพระสะทึง จากเขาสิบห้าชั้น ไหลไปรวมกับแม่น้ำปราจีนบุรี คลองตะโหนด ไหลลงสู่อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี และคลองประแสร์ที่ต้นน้ำมาจากเทือกเขาใหญ่ ไหลผ่านอำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี ออกสู่ทะเลที่จังหวัดระยอง เป็นต้น

ภูมิอากาศ

พื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เป็นพื้นที่ที่มีร่องมรสุมพาดผ่าน ฝนตกค่อนข้างชุกและเนื่องจากมีเทือกเขาบรรทัดและเทือกเขาจันทบุรี ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของพื้นที่ จึงทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวมีฝนตกมากกว่าทางตอนเหนือ นอกจากอิทธิพลของลมมรสุมที่พัดผ่านแล้วยังได้รับอิทธิพลจากทะเล ลักษณะของภูมิอากาศจึงมีทั้งแบบสะวันนาทางตอนบนของพื้นที่และแบบมรสุมเขตร้อนทางตอนล่างของพื้นที่ ด้วยเหตุของภูมิอากาศที่แตกต่างกันของพื้นที่โดยรอบผืนป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ดังนั้น จึงเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความหลากหลายของสังคมพืชและสังคมสัตว์ในพื้นที่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสังคมพืชนั้นมีการกระจายของพรรณพืชจาก 2 ภูมิภาคด้วยกัน คือ ภูมิภาคอินโดจีน (Indo-China) และภูมิภาคอินโดมาลายา (Indo-Malaya) ธรณีวิทยา : พื้นที่ตอนใต้ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาบรรทัดและเทือกเขาจันทบุรี ซึ่งเกิดจากการดันตัวของหินอัคนีชนิดเย็นตัวภายใน

ข้อมูลด้านชีวภาพ

ทรัพยากรป่าไม้

ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่าภาคตะวันออกหรือป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เป็นป่าลุ่มต่ำที่ไม่ผลัดใบที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ ที่สุดและเป็นป่าพื้นที่รอยเชื่อมต่อ (transitionzone) ระหว่างระบบนิเวศภาคกลางกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) อย่างมาก ป่าดงดิบส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบแล้ง มีเพียงเล็กน้อยที่เป็นป่าดงดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และทุ่งหญ้ากับไร่ร้าง แบ่งเป็นข้อๆ ได้ดังนี้ สังคมพืชป่าดงดิบแล้ง [ Dry Evergreen forest ] ป่าดงดิบแล้ง เป็นสังคมป่าที่ขึ้นปกคลุมพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนเกือบทั้งหมด ยกเว้นพื้นที่ตามสันเขาหรือในบริเวณที่มีดินตื้นจะมีสังคมพืชชนิดอื่นขึ้นแทรกอยู่เป็นหย่อมๆ ลักษณะโครงสร้างทางด้านตั้งของป่าดงดิบแล้ง สามารถแบ่งได้ 3 ชั้นเรือนยอด ด้วยกันคือ ไม้ชั้นบนมีความสูง 20 – 40 เมตร พรรณไม้ที่สำคัญได้แก่ ตะแบกแดง กระบก ยางแดง สมพง ตะเคียนทอง ปออีเก้ง เป็นต้น จะขึ้นอยู่เป็นกลุ่มๆ ตามริมลำธารหรือริมห้วย ไม้ชั้นรองมีความสูง 15 – 25 เมตร พรรณไม้ที่สำคัญได้แก่ ค้างคาว ลำป้าง กระท้อน เฉียงพร้านางแอ ตาเสือ คอแลน. เป็นต้น ไม้ชั้นล่างมีความสูง 6 – 15 เมตร พรรณไม้ที่สำคัญ ได้แก่ แก้ว ตังตาบอด นางดำ ลำบิด จันทน์ชะมด สั่งทำ กะโมกเขา ว่านช้างร้อง เป็นต้น สังคมป่าผสมผลัดใบ [ Mixed Deciduous Forest ] สังคมพืชชนิดนี้ มีลักษณะเรือนยอดโปร่ง พื้นป่าไม่รกทึบและในฤดูแล้งพรรณไม้จะผลัดใบการกระจายในสังคมป่าผลัดใบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนขึ้นปกคลุมอยู่น้อย โดยกระจายอยู่ตามสันเขาหินปูน หรือบริเวณที่มีดินตื้นหรือบริเวณที่มีไฟป่าเกิดขึ้นเป็นประจำ เช่น บริเวณรอบๆ หนองปรือหรือขึ้นแทรกตัวอยู่เป็นหย่อมๆ ล้อมรอบด้วยป่าดงดิบแล้งลักษณะโครงสร้างทางด้านตั้งของป่าชนิดนี้สามารถแบ่งได้เป็น 3 ชั้นเรือนยอดด้วยกันคือ ไม้เรือนยอดชั้นบนมีความสูง 25 -30 เมตร ไม้เด่นในชั้นนี้ได้แก่ ประดู่ งิ้วป่า กางขี้มอด ตะคร้อ สมอภิเภก เป็นต้น ไม้เรือนยอดชั้นรองมีความสูง 10 – 25 เมตร พรรณไม้ในชั้นนี้ ได้แก่ ตีนนก ขี้อ้าย ติ้วแดง แคหัวหมู หอมไกลดง รักขาว มะกอกป่า เป็นต้น ไม้ชั้นล่างมีความสูง 5 – 10 เมตร พรรณไม้ในชั้นนี้ได้แก่ หมีเหม็น เม่าไข่ปลา โมกมัน มะกา มะกวม กระมอบ เคล็ดหนู เป็นต้น พื้นที่เกษตรกรรมและไร่ร้าง [ Old Farmland and Shifting cultivation areas ] เกิดจากการบุกรุกพื้นที่โดยราษฎรหลังจากการให้สัมปทานทำไม้และการตัดถนนผ่านพื้นที่แล้ว ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2531 – 2532 ทางกรมป่าไม้และในส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการอพยพราษฎรที่เข้าไปบุกรุกพื้นป่าที่เป็นเขตรักษาพันธุ์-สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนปัจจุบันออกจากพื้นที่ดังกล่าว ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมต่างๆ ก็ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้เพื่อรอให้สังคมพืชฟื้นตัวทดแทนต่อไป พรรณพืชเด่นที่ขึ้นปกคลุมพื้นที่มีสองกลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มพืชใบกว้าง จะขึ้นอยู่เป็นพื้นที่แคบๆ ตามรอยต่อระหว่างพื้นที่เกษตรกรรมกับป่าที่สมบูรณ์ พรรณพืชเด่นที่พบได้แก่ สาบเสือ พังแหรใหญ่ ปอฝ้าย อะราง และกระทุ่ม เป็นต้น ขึ้นปะปนกับลูกไม้ยืนต้น กลุ่มพืชใบแคบ ส่วนใหญ่จะกระจายอยู่เป็นบริเวณกว้าง พรรณพืชเด่นได้แก่ อ้อ หญ้าคา หญ้าพง หญ้าขจรจบ ฯลฯ และมีลูกไม้ยืนต้นปะปน ป่าตามสันเขาหินปูน [ Limestone outcrops ] ขึ้นกระจายอยู่เป็นแนวตามสันเขาหินปูนอยู่ทางตอนใต้ของพื้นที่ ส่วนใหญ่จะเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นที่แคระแกรน พรรณไม้ที่พบได้แก่ ปอฝ้าย ตีนนก ทองหลางป่า มะนาวผี จันทน์ผา เป็นต้น

ทรัพยากรสัตว์ป่า

จากการสำรวจสัตว์ป่าจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน แบ่งเป็นประเภทๆ ได้ดังนี้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบรวมทั้งหมด 64 ชนิด จาก 50 สกุล ใน 23 วงศ์ สัตว์ที่พบเห็นส่วนใหญ่เป็นสัตว์ขนาดเล็กและขนาดกลาง ได้แก่ พญากระรอกดำ กระรอกหลากสี ชะนีมงกุฏ อีเก้ง เป็นต้น ในขณะที่สัตว์ขนาดใหญ่ เช่น ช้างและกระทิง ส่วนใหญ่จะพบเฉพาะร่องรอยเท่านั้นและมักพบในพื้นที่ตอนในของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เนื่องจากบริเวณขอบด้านนอกรายล้อมด้วยหมู่บ้าน พื้นที่เกษตรกรรมซึ่งมากด้วยกิจกรรมมนุษย์ด้านต่างๆ แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้ ปรากฎว่ามีฝูงกระทิงและวัวแดงออกมากินยอดมันสำปะหลังตามริมไร่ที่ติดกับป่ามากขึ้น นก สามารถพบได้ตลอดเวลาทั่วพื้นที่ประกอบด้วยนก 246 ชนิด 160 สกุลใน 64 วงศ์ ส่วนใหญ่เป็นชนิดนกที่เลือกใช้ถิ่นที่อาศัยในรูปแบบของป่าและสภาพสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ชนิดนกป่าที่พบในพื้นที่ เช่น นกกาฮังหรือนกเงือกใหญ่ นกเงือกกรามช้าง ไก่ฟ้าพญาลอ นกแต้วแล้วธรรมดา นกกระติ๊ดขี้หมู นกเขาใหญ่ นกปรอดสวน นกเอี้ยงสาริกา และเหยี่ยวขาว เป็นต้น สัตว์เลื้อยคลาน พบในพื้นที่รวม 53 ชนิด 40 สกุลใน 16 วงศ์ สัตว์ที่พบได้แก่ งูเขียวหัวบอนหรืองูง่วงกลางดง จิ้งเหลนภูเขาเกล็ดเรียบ จิ้งเหลนหลากลาย ตะกวด และงูสายม่านเกล็ดใต้ตาใหญ่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบจรเข้น้ำจืดและตะกองหรือตัวลั้ง สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พบทั้งหมด 18 ชนิด 9 สกุลใน 5 วงศ์ สัตว์ที่พบได้แก่ เขียดหลังปุ่มที่ราบ เขียดตะปาด เขียดจิก กบหนอง อึ่งอ่างบ้าน และอึ่งอ่างแม่หนาว เป็นต้น ปลาน้ำจืด ชนิดปลาที่พบไม่น้อยกว่า 23 ชนิดจาก 18 สกุลใน 13 วงศ์ ปลาที่พบได้แก่ ปลาแก้มช้ำ ปลาซิวควาย ปลาเนื้ออ่อน ปลาช่อน ปลากระดี่ ปลาหลด เป็นต้น แมลง แมลงถือเป็นสัตว์ที่มีจำนวนและชนิดมากที่สุด จากการที่ป่าไม้ได้ถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว ทำให้แมลงรวมถึงไข่ของแมลงด้วย จากเหตุนี้จึงมีการรวมแมลงและไข่ของแมลงไว้เป็นสัตว์ป่า นอกจากนี้ยังได้ประกาศแมลงที่หายากเป็นสัตว์ป่า คุ้มครองอีกด้วย ได้แก่ ผีเสื้อภูฐาน สกุลผีเสื้อไกเซอร์ สกุลผีเสื้อถุงทอง สกุลผีเสื้อนางพญา ผีเสื้อรักแร้ขาว ผีเสื้อหางติ่งสะพายเขียว สกุลผีเสื้อหางดาบตาลไหม้ ด้วงดินปีกแผ่น สกุลด้วงดินขอบทองแดง สกุลด้วงคีมยีราฟ และสกุลกว่างดาว เป็นต้น แมลงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน สามารถพบเห็นได้ในทุกๆ ที่ โดยเฉพาะในฤดูฝน แมลงที่พบมีจำนวน 106 ชนิด จาก 76 สกุลใน 12 วงศ์ กลุ่มที่พบเห็นได้บ่อย ได้แก่ ผีเสื้อติ่งฉะอ้อน ผีเสื้อสะพายฟ้า ผีเสื้อหางติ่งแววมยุรา ผีเสื้อช่างร่อน ผีเสื้อหางติ่งนางระเวง ผีเสื้อโยม่า ผีเสื้อโคคิโน ผีเสื้อเจ้าป่า กว่างสามเขาเมืองจันทน์ เป็นต้น

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง : สถานที่ตั้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ตั้งอยู่ระหว่างเส้นแวงที่ 101 องศา 35 ลิปดา ถึง 102 องศา 05 ลิปดาตะวันออก และเส้นรุ้งที่ 13 องศา ถึง 13 องศา 30 ลิปดาเหนือ มีพื้นที่รวม 643,750 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่รอยต่อ 5 จังหวัด ( ภาคตะวันออก ) ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดสระแก้ว จังหวัดจันทบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ : อยู่ในท้องที่อำเภอท่าตะเกียบ และอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา และอำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว
ทิศใต้ : อยู่ในท้องที่กิ่งอำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง และอำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ทางตอนใต้ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว และอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา – เขาวง
ทิศตะวันออก : อยู่ในท้องที่อำเภอวังน้ำเย็นและกิ่งอำเภอวังสมบูรณ์ จังหวัดสระแก้ว
ทิศตะวันตก : อยู่ในท้องที่อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา และอำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี

การคมนาคม

โดยรถยนต์ จากกรุงเทพถึงฉะเชิงเทรา ประมาณ 60 กิโลเมตร จากฉะเชิงเทราถึงอำเภอพนมสารคาม 34 กิโลเมตร จากอำเภอพนมสารคามถึงบ้านหนองคอก 59 กิโลเมตร จากบ้านหนองคอกถึงสำนักงานเขต 20 กิโลเมตร รวมระยะทาง 173 กิโลเมตร

สถานที่ติดต่อ

สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ตู้ ปณ.4 อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา 24160
ส่วนจัดการสัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) เลขที่ 16 ถนนสุขุวิท ตำบลศรีราชา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี 20110

โทรศัพท์ / โทรสาร

038-311-234 / 038-770-116
ขอขอบคุณประกอบจาก  แจ่มโบ๊ะโฟโต้