มูลนิธิสัมมาชีพ มอบรางวัล 4 ปราชญ์ชาวบ้าน ‘ต้นแบบสัมมาชีพ’  ประจำปี 2566  


มูลนิธิสัมมาชีพคัดเลือก 4 บุคคลรับรางวัล “ปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ” ปี 2566  เพื่อเชิดชูเกียรติและเผยแพร่ผลงานเด่นของปราชญ์ชาวบ้านที่นำองค์ความรู้มาสร้างสรรค์งานใหม่ จนก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง

มูลนิธิสัมมาชีพ

นายมงคล ลีลาธรรม ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสัมมาชีพ กล่าวว่า คณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้มีมติคัดเลือกปราชญ์ชาวบ้านที่มีผลงานความสำเร็จโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม เข้ารับรางวัล “ปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ” ประจำปี 2566 จำนวน 4  คนด้วยกัน โดยรางวัลดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติบุคคลที่ริเริ่ม สร้างสรรค์งาน ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม รวมทั้งได้เผยแพร่ความรู้และก่อให้เกิดการนำไปปฏิบัติในวงกว้าง จึงถือว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นต้นแบบที่ควรยกย่อง เพราะได้ถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญญาที่ช่วยให้ชุมชน ท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง

สำหรับบุคคลทั้ง 4 คนที่ได้รับเลือกเป็นปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพประกอบด้วย นายวิโรจน์ คงปัญญา มีผลงานด้านการเงินและสวัสดิการชุมชน นายธนากร จีนกลาง มีผลงานด้านการแปรรูปยางพารา

ไร้กลิ่น นายก่อคเณศ รุ้งสันเทียะ มีผลงานด้านนวัตกรรมสีย้อมจากธรรมชาติ และนายสิทธิพงษ์ อรุณรักษ์ มีผลงานด้านการผลิตและปรับปรุงพันธุ์มังคุด

มูลนิธิสัมมาชีพ

“รางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ ถือเป็นรางวัลทรงคุณค่าที่มอบแก่ปราชญ์ชาวบ้านที่ได้สร้างสรรค์งานซึ่งถือเป็นนวัตกรรมทางสังคมจนประสบความสำเร็จด้วยหลักสัมมาชีพ และบุคคลเหล่านั้นยังได้ขยายความรู้ แบ่งปันต่อสังคม จนก่อให้เกิดการนำไปปฏิบัติ ขยายผลในวงกว้าง ผลงานดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น หรือระดับประเทศ 

การมอบรางวัลของมูลนิธิสัมมาชีพ ก็เพื่อที่จะให้บุคคลเหล่านั้นได้เป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่นในสังคม และเป็นการร่วมเผยแพร่องค์ความรู้ ผลงานที่มีคุณค่า ให้แก่ผู้สนใจ หรือชุมชน ท้องถิ่น ได้นำไปปรับใช้ อันจะก่อให้เกิดการพัฒนา ยกระดับศักยภาพของแต่ละกิจการให้เติบโตต่อไป” นายมงคลกล่าว

มูลนิธิสัมมาชีพ

สำหรับผลงานความสำเร็จของปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพแต่ละรายนั้น นายวิโรจน์ คงปัญญา ประธานวิสาหกิจชุมชนกองทุนออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา อ.พรหมคีรี  จ. นครศรีธรรมราช มีผลงานด้านเป็นผู้คิดค้นวิธีการบริหารระบบการเงิน การให้เงินกู้ การติดตามสมาชิก มีระบบบัญชีที่ได้รับมาตรฐาน รวมทั้งขยายสู่การพัฒนาอาชีพที่มั่นคง สร้างเศรษฐกิจที่หลากหลายให้กับชุมชน จนถือเป็นโมเดลการบริหารกลุ่มออมทรัพย์ สามารถช่วยแก้ไขปัญหาการกู้ยืมเงินนอกระบบของชุมชนได้ดี จนกลุ่มออมทรัพย์แห่งนี้ได้รับการส่งเสริมเป็นโรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์ และกลุ่มสามารถขยายผลจากระดับตำบล สู่ระดับอำเภอต่างๆ สามารถดำเนินกิจการมากว่า 30  ปี และจากศักยภาพในการจัดการทุนชุมชน ยังได้ขยายสู่การเชื่อมโยงในด้านต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ สวัสดิการการศึกษา สุขภาพ เพื่อเป็นหลักประกันให้สมาชิก รวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม สาธารณูปโภค จนถือเป็นชุมชนต้นแบบในการดูแลตนเองอีกแห่งหนึ่ง

มูลนิธิสัมมาชีพ

นายธนากร จีนกลาง ประธานวิสาหกิจชุมชนฐานเกษตรยางพารา อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ มีผลงาน คือ การเป็นผู้นำนวัตกรรมโรงอบยางพาราพลังงานแสงอาทิตย์แบบพาราโบลาโดมมาใช้ จากการวิจัยร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยโรงอบยางพาราโบลาโดมสามารถช่วยแก้ปัญหากลิ่นยาง ลดระยะเวลาอบ ลดมลพิษ ลดต้นทุนเชื้อเพลิงได้ปีละราว 7-8 แสนบาท นอกจากนี้ยังทำให้ได้ยางคุณภาพ ราคาสูง เป็นที่ต้องการของคู่ค้าทั้งไทยและต่างชาติ 

นายธนากรยังได้พัฒนาการทำธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยแปรรูปยางพาราจากยางแผ่นรมควันมาตรฐาน GMP สู่ยางเครป แผ่นบาง ยางเครปขาว ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น จากผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน มีความหลากหลาย และมีคู่ค้าต่างประเทศชัดเจน ทำให้มีความสามารถในการส่งออกและขยายเครือข่ายเกษตรกรเพื่อเพิ่มกำลังผลิต รองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น

3.คุณก่อคเณศ รุ้งสันเทียะ

นายก่อคเณศ รุ้งสันเทียะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการคิดค้นสีจากธรรมชาติและเป็นนวัตกรชุมชน อ.เมือง จ.อุดรธานี  มีความสามารถในการประยุกต์ภูมิปัญญาและสร้างนวัตกรรมสีจากธรรมชาติ โดยแปรรูปวัตถุดิบจากพืช ธรรมชาติ ของเหลือใช้ภาคเกษตร เพื่อใช้ย้อมเส้นใยไหม ฝ้าย และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สีต่างๆ เช่น สีสกรีน สีน้ำ สีผง สีอะคลิลิค การแปรรูปเส้นใยจากพืช ซึ่งถือเป็นการจัดการภาคการเกษตรที่สอดคล้องกับอาชีพด้านหัตถกรรมของชาวบ้าน และตอบโจทย์ BCG, SDGs  โดยนายก่อคเณศได้ถ่ายทอดความรู้ด้านนวัตกรรมสีย้อมจากต้นทุนทรัพยากรในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งได้ประยุกต์ศิลปะร่วมสมัยมายกระดับอาชีพหัตถกรรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แก่ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ

มูลนิธิสัมมาชีพ

นายสิทธิพงษ์ อรุณรักษ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดศูนย์เรียนรู้การเกษตรท่ามะพลา อ.หลังสวน จ. ชุมพร เป็นริเริ่มการรวมกลุ่มผู้ปลูกมังคุดท่ามะพลา โดยใช้ชื่อ “กลุ่มปรับปรุงมังคุดเพื่อการส่งออกตำบลท่ามะพลา” เพื่อผลิตมังคุดที่มีคุณภาพ โดยสร้างองค์ความรู้ตั้งแต่แผนการผลิต การดูแลบำรุง การใช้ปุ๋ยตามค่าการวิเคราะห์ของดิน การเก็บเกี่ยวและรวบรวมผลผลิต ทำให้กลุ่มสามารถขายผลผลิตมังคุดในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดประมาณหนึ่งเท่า และช่วยลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งยังกลายเป็นโมเดลประมูลมังคุดเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก นอกจากนี้ยังประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตและการจัดการ เช่น ทดลองการให้น้ำเพื่อทดสอบการเกิดเนื้อแก้วยางไหล การปลูกต้นมังคุดเสียบยอด เพื่อแก้ไขระยะเวลาในการให้ผลผลิต จนเป็นองค์ความรู้ที่ได้รับการยอมรับ มีเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างชุมชน ท้องถิ่น ภูมิภาค เพื่อร่วมพัฒนาการผลิตมังคุด

ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิกล่าวต่อว่า พิธีมอบรางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ จะมีขึ้นในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ณ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ โดยปราชญ์ชาวบ้านทั้ง 4  คนจะได้รับถ้วยรางวัลเกียรติยศและเงินสดคนละ 50,000 บาท และจะร่วมดำเนินกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ ผลงานร่วมกับมูลนิธิฯ เพื่อเป็นแบบอย่างให้ผู้สนใจได้รับรู้และนำไปขยายผลต่อไป

สำหรับรางวัลสัมมาชีพต้นแบบ เริ่มดำเนินการมาตั้งปี 2560 โดยเริ่มมอบรางวัลบุคคลต้นแบบสัมมาชีพให้นักธุรกิจผู้ประกอบกิจการขนาดใหญ่ที่ก่อร่างสร้างตัวจนประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่น  และขยายสู่รางวัลเอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพ รางวัลวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ  และรางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ 

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรางวัลบุคคลต้นแบบสัมมาชีพในปีนี้และปี 2565 รางวัลปราชญ์ชาวบ้านปี 2565  และรางวัลวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพปี 2565  มีดังนี้

  • บุคคลต้นแบบสัมมาชีพ ปี 2566

“ดร.ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์” แห่งเบทาโกร คว้ารางวัล บุคคลต้นแบบสัมมาชีพ ปี 2566 มูลนิธิสัมมาชีพเตรียมจัดงานมอบรางวัล 17 พ.ย.นี้
-ลิงก์ข่าว: http://rb.gy/haeo6

  • บุคคลต้นแบบบสัมมาชีพ ปี 2565

“ดร.เจริญ รุจิราโสภณ” คว้ารางวัล บุคคลต้นแบบสัมมาชีพ ปี 2565 เตรียมมอบรางวัลยิ่งใหญ่ 25 พ.ย. นี้
-ลิงก์ข่าว: http://rb.gy/jhd2x

  • ปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ ปี 2565

5 ปราชญ์ชาวบ้านผลงานเด่น คว้ารางวัล“ต้นแบบสัมมาชีพ” ปี 2565
-ลิงก์ข่าว: http://rb.gy/likv6

  • วิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ ปี 2565

1.“ชากไทยโมเดล” กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต วิสาหกิจต้นแบบแก้หนี้สินชุมชน
– ลิงก์ข่าว: http://rb.gy/likv6

2.“กาแฟถ้ำสิงห์” วิสาหกิจของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน
– ลิงก์ข่าว: http://rb.gy/0m8ov

3.ท่องเที่ยวบ้านแหลม คว้ารางวัลวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพปี 64
– ลิงก์ข่าว: http://rb.gy/4n2ix

4.หม้อห้อมทุ่งเจริญฯ แพร่ ภูมิปัญญาชาวบ้าน-เอกลักษณ์ท้องถิ่น ชนะเลิศวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพปี 64
– ลิงก์ข่าว: http://rb.gy/yzkmx

5.เกษตรอินทรีย์คลองตัน PGS คว้ารางวัลวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพปี 64

– ลิงก์ข่าว: http://rb.gy/lowf9