ภาพประกอบความเหลื่อมล้ำ ภาพประกอบความเหลื่อมล้ำ

ชีวิตในเมืองแพงขึ้น แต่รายได้ผู้คนเพิ่มขึ้นไม่ทัน

ปัจจัยในการดำรงชีวิต นอกจากเรื่อง “การกิน” ก็มีเรื่องของ “การนอน” หรือ ที่อยู่อาศัย น่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนแสวงหา และต้องการ แต่การที่ใครคนใดคนหนึ่งจะได้ “กินอิ่ม นอนหลับ” ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละบุคคล เพราะต้นทุนของแต่ละคนไม่เท่ากัน  

ในประเด็นนี้ ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นเรื่องของที่อยู่อาศัย ว่า เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ไม่ใช่สินค้าที่เน้นทำกำไรโดยไม่คำนึงถึงผู้คน เป็นประเด็นที่ ดังนั้น ในระดับกระบวนทัศน์ จำเป็นต้องคิดใหม่ว่า ที่อยู่อาศัยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่สินค้า ไม่ใช่สินทรัพย์เพื่อการเก็งกำไร 

ดังนั้นเป้าหมายของการพัฒนาเมือง ต้องคิดใหม่ว่า คิดถึงกำไรให้น้อยลง คิดถึงการแบ่งปันให้มากขึ้น ยกตัวอย่างบทความในต่างประเทศเล่มหนึ่ง ที่ระบุถึงการเรียกร้องให้เมืองเป็นของผู้คน ไม่ใช่เมืองธุรกิจเพื่อแสวงหากำไร (Cities for people not for profit) ดังนั้นเป้าหมายของการพัฒนาเมือง คือ เมืองที่เป็นธรรม (Just cities) โดยชาวเมืองทั้งหลาย จำเป็นต้องมีสิทธิมีส่วนร่วมในการกำหนดการเปลี่ยนแปลงของเมือง (the right to the city) ไม่ใช่แค่อำนาจในการกำหนดเมืองตกอยู่ในมือของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ที่มุ่งกำไรสูงสุดเท่านั้น 

พร้อมกับเสนอแนวทางการจะบรรลุเป้าหมายนั้น ไว้ 3 ข้อ ดังนี้ 1. การนำที่ดินของรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในเมืองมาทำโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อสังคม (social housing) เป็นการขจัดอุปสรรคสำคัญที่ทำให้โครงการที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยมีต้นทุนที่ถูกลง 

2. ส่งเสริมที่อยู่อาศัยแบบเช่าในเมืองสำหรับผู้มีรายได้น้อย ลดความเป็นสินค้าของที่อยู่อาศัย คือ การส่งเสริมที่อยู่อาศัยแบบเช่าระยะยาวราคาถูก ที่ผ่านมากลุ่มผู้เช่าเป็นกลุ่มที่ถูกมองข้าม ไม่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐเหมือนการอุดหนุนให้ซื้อที่อยู่อาศัย ทั้ง ๆ ที่คนกลุ่มนี้มีรายได้น้อยกว่า มีความมั่นคงน้อยกว่า และต้องการความช่วยเหลือมากกว่า ตัวเลขสถิติบ่งชี้ด้วยว่า จำนวนผู้เช่าที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มสูงขึ้น การที่ผู้เช่าที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยมีแนวโน้มขยายตัว แต่รัฐกลับไม่สนใจ ต่างกับชนชั้นกลางที่ได้ประโยชน์จากมาตรการลดภาษีการโอนอสังหาริมทรัพย์ 

3. เพิ่มพื้นที่ค้าขายสำหรับผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากการค้าขายริมทาง เป็นวิถีชีวิตที่มีมาพร้อมกับการขยายตัวของเมือง เนื่องด้วยเมืองในประเทศกำลังพัฒนาที่อุตสาหกรรมไม่ได้ขยายตัวพร้อมกับการกลายเป็นเมือง จึงเกิดการอาชีพในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ แนวทางการจัดการที่มักถูกกล่าวถึงว่าเป็นแนวทางที่ดี คือการจัดพื้นที่ค้าขายให้กับคนที่ค้าขายริมทางไปในสถานที่ที่จัดให้ 

ยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ ที่รัฐบาลจัดหาสถานที่ขายอาหารให้กับอดีตผู้ค้าขายริมทาง ได้มีที่ขายอาหารประจำ เรียกว่า hawker centers หรือศูนย์อาหาร ให้ผู้ค้าขายริมทางได้มีที่ค้าขายเป็นหลักแหล่ง ไม่ต้องตระเวนเร่ขาย และสามารถควบคุมมาตรฐานสุขอนามัยได้ ขณะเดียวก็ไม่เพิ่มภาระต้นทุนให้กับผู้ค้า โดยให้ผู้ค้าสามารถเข้ามาขายได้ในที่ตั้งที่รัฐจัดให้โดยเสียค่าเช่าราคาถูก

ขณะที่ ศ.ดร.นฤมล นิราทร คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงปัญหาเรื่องของที่อยู่อาศัยส่วนหนึ่ง เป็นผลพวงจากความจนและความเหลื่อมล้ำ มีความเชื่อมโยงกันเป็นวัฏจักร ความเหลื่อมล้ำทำให้เกิดความยากจน เมื่ออยู่ในสถานะยากจนก็ต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สุขภาพ อาชีพ หรือการศึกษา คนจนส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบที่ต้องดิ้นรนหาทางรอดในการดำรงชีพ และพยายามดำรงตนในฐานะพลเมืองด้วยความยากลำบาก เพราะการจัดการของเมืองไม่เป็นมิตรต่อพวกเขา 

เช่น การจัดเก็บภาษีที่ดินในราคาสูงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการไล่รื้อ หรือแม้กระทั่งการละเลยการมีอยู่ของคนเหล่านี้ด้วยการปลูกสร้างทับที่ชุมชนโดยไม่คำนึงถึงความเสียหาย กระบวนการเหล่านี้สะท้อนมุมมองของภาครัฐที่มีต่อพวกเขาในฐานะ “คนอื่น” ในสังคมเดียวกัน โดยมองข้ามความซับซ้อนของปัญหาเชิงโครงสร้าง และกล่าวโทษว่าเป็นเพราะ “พฤติกรรมทำจน” ซึ่งยากจะเปลี่ยนแปลงด้วยต้นทุนชีวิตอันจำกัด

จากสถิติในช่วงปีที่ผ่านมา พบว่าคนจนทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 30% ต่อจำนวนประชากรที่มีการจดทะเบียน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ คนจนใหม่ และคนว่างงานระยะยาว ซึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด 19 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนจนเมือง ทั้งในส่วนของการทำความเข้าใจความซับซ้อนของคนจนเมือง ลงพื้นที่และสำรวจเชิงลึกรายครัวเรือน การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ประสานงานระหว่างชุมชน ภาคเอกชน และประชาสังคม และส่งเสริมให้คนจนเมืองโดยเฉพาะเยาวชนได้เข้าถึงการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

อย่างไรก็ดี ปัญหาและข้อเสนอแนะ ที่ได้กล่าวมาในข้างต้น สอดคล้องกับนโยบายในการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ วิจัยและยวัตกรรม (ววน.) ต่อการแก้ไขปัญหาของสังคม และ การพัฒนาของประเทศ โดย รศ.ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. มีหน้าที่ที่สำคัญ คือ การจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเปรียบได้กับแผนที่นำทางด้านการพัฒนาการวิจัยของประเทศในทุกมิติ รวมถึงการขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งในมิติด้านการศึกษา สุขภาพ รายได้และสวัสดิการผู้สูงอายุ การกระจายความเจริญและรายได้จากเมืองสู่ท้องถิ่น รวมถึงการรับมือกับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะส่งผลต่อความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมล้ำในอนาคต 

ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 2 ของแผนด้าน ววน.

เนื่องจาก สกสว. ตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยในฐานะปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีรากเหง้าเกี่ยวข้องกับหลายสาเหตุ ปัจจัย จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ไขปัญหาโดยใช้เพียงความรู้ด้านวิจัยเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความเข้าใจ ความร่วมมือกันจากหลายภาคส่วนของทุกระดับที่จะเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง เพราะโครงสร้างที่อ่อนแอจะเป็นอุปสรรคและฉุดรั้งการพัฒนาประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งในส่วนของเครือข่ายภาควิชาการ ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการสะท้อนปัญหา สร้างความเข้าใจ และเสนอแนะแนวทางที่เป็นไปได้เพื่อให้สังคมไทยมีความเสมอภาคและเท่าเทียมที่มากขึ้น

โดย ธนชัย แสงจันทร์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม