Klook แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวระดับโลก ประกาศการตัดสินใจในการยุติการขายบัตรท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับการขายโปรแกรมสถานที่ท่องเที่ยวหรือประสบการณ์ที่แสวงประโยชน์จากสัตว์ในประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก นับเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของ Klook ในการกำหนดนโยบายใหม่ด้านสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) เลิกขายการแสดงโชว์์ที่เกี่ยวข้องกับ ช้าง โลมา และเสือ จนกว่าผู้ประกอบการจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงาน นโยบายนี้จะมีกำหนดบังคับใช้ภายในสิ้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 นักท่องเที่ยวที่ใช้บริการท่องเที่ยวผ่านแพลตฟอร์ม Klook จะไม่สามารถพบตัวเลือกในการซื้อบัตรเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เหล่านี้ในประเทศไทยอีกต่อไป เช่น โชว์โลมาพัทยาดอลฟินาเรียม โชว์โลมาภูเก็ต ทัวร์ว่ายน้ำกับช้างที่หาดลัคกี้ สวนเสือพัทยา ภูเก็ตแฟนตาซี และสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ อีกมาก ในขณะที่บริษัทท่องเที่ยวระดับโลกอีกหลายรายอย่าง Airbnb, Booking.com, Intrepid และ World Expeditions ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายไปแล้วก่อนหน้า โดยตอบสนองกระแสการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบและมีจริยธรรม ไม่สนับสนุนการใช้สัตว์เพื่อสร้างความบันเทิงโดยได้ยุติการขายบัตรโชว์การแสดงที่ทำกำไรจากการทรมานสัตว์ อีกกว่า 130 แห่งทั่วโลก
ซูซาน มิลธอร์ป หัวหน้าฝ่ายรณรงค์สัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า “เรายินดีกับความก้าวหน้าของ Klook และจัดว่าเป็นก้าวแรกในการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ เราหวังอย่างยิ่งที่จะเห็น Klook มุ่งมั่นดำเนินการอย่างต่อเนื่อง หยุดขายแหล่งท่องเที่ยวที่ใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่า สนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบที่แท้จริง เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องกังวลเมื่อจองกิจกรรมการท่องเที่ยวบนแพลตฟอร์ม เราสนับสนุนให้ Klook เดินหน้ายกเลิกกิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับช้างต่อไป เช่น การอาบน้ำและการให้อาหารช้าง และจะกลายมาเป็นบริษัทท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสัตว์ป่าอย่างแท้จริง” “การยกเลิกกิจกรรมท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากสัตว์ไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความรู้สึกนึกคิดของนักท่องเที่ยวที่ไปในทิศทางเดียวกัน กับกระแสการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในประเทศไทยจากข้อมูลผลสำรวจสวนดุสิตโพลในปี พ.ศ. 2565 พบว่า
76 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่าการแสดงโชว์ช้างเป็นการทารุณกรรมสัตว์” หทัย ลิ้มประยูรยงค์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์สัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวเสริม
การจัดการนโยบายด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่เอาจริงเอาจังของบริษัทท่องเที่ยวอย่าง Klook และแพลตฟอร์มออนไลน์ท่องเที่ยวอื่นๆ จะช่วยตัดเม็ดเงินที่จะไปสนับสนุนต่อยอดการทำธุรกิจที่ใช้สัตว์ป่าเพื่อสร้างความบันเทิง ซึ่งเบื้องหลังเกี่ยวข้องกับการนำสัตว์มาฝึกด้วยวิธีการโหดร้ายทารุณเพื่อให้แสดงพฤติกรรมที่ผิดไปจากธรรมชาติ นอกจากนี้ บริษัทท่องเที่ยวจะต้องให้ความรู้ และส่งเสริมให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสัตว์ป่า ผ่านการเพิ่มตัวเลือกของสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสัตว์ป่าแทน
‘การท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ’ กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ซึ่งหมายถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจสถานบริการ บริษัทท่องเที่ยว แพลตฟอร์มออนไลน์ และนักท่องเที่ยว จะต้องมีความรับผิดชอบต่อกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวของตัวเอง
ความโปร่งใสระหว่างบริษัทฯ และลูกค้าจะช่วยให้เกิดความเชื่อมั่น การแสดงจุดยืนในการต่อต้าน
การทารุณกรรมสัตว์ ผ่านการแสวงหาผลประโยชน์จากสัตว์ป่า ในทางหนึ่งจะช่วยให้บริษัทฯ มีสถานะทางการตลาดที่มั่นคงและช่วยสร้างแบรนด์ของบริษัทฯ ในฐานะผู้นำด้านการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
Klook Animal Welfare Policy
www.klook.com/en-US/animalwelfarepolicy
รายชื่อปางช้างที่เป็นมิตรกับช้างและคำแนะนำสำหรับนักท่องเที่ยว คลิกดูรายละเอียด
สวนดุสิตโพลนำเสนอผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการแสดงโชว์ช้าง พ.ศ. 2565 คลิกดูผสำรวจ
เกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection เป็นองค์กรเพื่อคุ้มครองปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทารุณกรรมสัตว์อย่างถาวร โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 มีบทบาทในการให้คำปรึกษากับองค์การสหประชาชาติและสภายุโรป ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ สร้างความแตกต่างให้สัตว์ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ถูกทารุณกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยดำเนินงานครอบคลุมทั้งสัตว์ในชุมชน – สุนัข, สัตว์ป่า – สัตว์ในฟาร์ม รวมถึงการให้ความรู้ด้านปศุสัตว์ที่มีมนุษยธรรมอันส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนและสัตว์ ข้อมูลเพิ่มเติม www.worldanimalprotection.or.th