ส่องผลงานเปลี่ยนโลก ผู้ชนะระดับนานาชาติรางวัล James Dyson Award 2022
- SmartHEAL แผ่นปิดแผลอัจฉริยะ ผลงานของทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ที่สามารถตรวจสอบสภาวะของแผลใต้แผ่นปิดได้จากระดับ pH
- Polyformer เครื่องรีไซเคิลขวดพลาสติกให้กลายเป็นวัสดุสำหรับการพิมพ์สามมิติ ผลงานของทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ประเทศแคนาดา
- Ivvy เครื่องให้น้ำเกลือแบบพกพาที่จะมาแทนที่เสาน้ำเกลือแบบเก่า เสริมความคล่องตัวให้ผู้ป่วย ผลงานของ Charlotte Blancke จากมหาวิทยาลัยแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม
รางวัล James Dyson Award ได้มอบเงินรางวัลแก่ผลงานและนวัตกรรมจากวิศวกรและนักประดิษฐ์รุ่นใหม่จากทั่วโลกไปแล้วมูลค่ากว่า 1 ล้านปอนด์ โดยในปีนี้ Sir James Dyson ได้ทำการคัดเลือก 2 ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับนานาชาติที่ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 30,000 ปอนด์ และรางวัลรองชนะเลิศที่ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 5,000 ปอนด์เพื่อเป็นต้นทุนในการต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ในอนาคต
โดยจากผลงานอันน่าทึ่งของเยาวชนจากทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย Sir James Dyson ได้กล่าวว่า “ทุก ๆ ปี การประกวด James Dyson Award ทำให้เราเห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่าคนรุ่นใหม่นั้นมีความต้องการที่จะพัฒนาโลกของเราและแก้ไขปัญหาทั้งในมิติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและด้านการแพทย์ คนส่วนหนึ่งเลือกที่จะมองดูปัญหาในขณะที่นักประดิษฐ์รุ่นใหม่เหล่านี้ได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แบบจับต้องได้ ด้วยการนำเสนอสิ่งประดิษฐ์ที่แก้ปัญหา โดยใช้ศาสตร์ของวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงการออกแบบอันชาญฉลาด”
สิ่งประดิษฐ์ผู้ชนะรางวัล James Dyson Award 2022
รางวัลชนะเลิศระดับนานาชาติ – SmartHEAL ผลงานโดย Tomasz Raczynski, Dominik Baraniecki, และ Piotr Walter
ปัญหาที่ทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยวอร์ซอทีมนี้พบ คือแผลที่ถูกปิดด้วยแผ่นปิดแผลนั้นยากต่อการตรวจสอบ และการเปลี่ยนแผ่นปิดแผลบ่อย ๆ ก็อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้หลายประการ ทั้งการติดเชื้อและการระคายเคืองของเนื้อเยื่อบริเวณแผล
วิธีการตรวจสอบสภาพแผลใต้แผ่นปิดแผลในปัจจุบันนั้นทำได้เพียงสังเกตสี กลิ่น หรืออุณหภูมิ หรือการทดสอบในห้องปฏิบัติการที่มีค่าใช้จ่ายสูง การรักษาแผลแบบละเลยนั้นไม่เพียงแต่สามารถทำให้เกิดการอักเสบเท่านั้น แต่ยังสามารถทำให้เนื้อเยื่อบริเวณแผลตายได้ด้วย ซึ่งในบางกรณีสามารถนำไปสู่การบาดเจ็บที่ร้ายแรงและเสียชีวิตได้
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการคาดการณ์ว่าประชากรผู้สูงอายุที่อายุ 60 ขึ้นไปจะมีอัตราส่วนมากขึ้นจาก 9.8% เป็น 20.3% ภายในปี 2050 ซึ่งประชากรเหล่านี้คือผู้ประสบปัญหาด้านสุขภาพอันหลากหลาย หนึ่งในนั้นคืออาการแผลฟื้นตัวช้า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่บ่งชี้ว่า SmartHEAL เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่จะมีความสำคัญมากในอนาคต
โซลูชันของปัญหาเกี่ยวกับแผล
SmartHEAL เซนเซอร์ติดแผ่นปิดแผลอัจฉริยะที่มีความแม่นยำและราคาถูก ด้วยการใช้การระบุเอกลักษณ์ด้วยคลื่นวิทยุ (RFID) ทำให้สามารถตรวจสอบสภาพแผลสถานะการติดเชื้อของแผลได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนแผ่นปิดแผล ซึ่งทำให้สามารถลดการทำให้เนื้อเยื่อแผลระคายเคือง แพทย์จะสามารถตรวจสภาพแผลได้ง่ายขึ้นจากข้อมูลที่ได้ แผ่นปิดแผลอัจฉริยะนี้ทำให้เกิดและรักษาไว้ซึ่งสภาวะที่สมดุลที่ดีต่อการฟื้นตัวของแผล
“ผมเชื่อว่าเรารู้สึกวิตกกังวลเหมือนกันหมดตอนที่เปิดแผ่นปิดแผลเพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างภายใต้นั้น สิ่งที่ทำให้ SmartHEAL ได้รับรางวัลชนะเลิศนั่นก็เพราะว่านวัตกรรมนี้ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ นั่นก็คือค่า pH ที่สามารถบอกได้ว่าแผลนั้นกำลังฟื้นตัวอย่างไร ทำให้การรักษาง่ายขึ้น ลดการติดเชื้อ และสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ในท้ายที่สุด เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารางวัลนี้จะมอบแรงผลักดันให้แก่ทีมนักประดิษฐ์ ในหนทางของการพัฒนาไปสู่การพาณิชย์ที่ท้าทายในอนาคต” Sir James Dyson ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าวิศวกร Dyson กล่าว
ก้าวต่อไปของ SmartHEAL
ทีมกำลังเร่งขั้นตอนการทดลองและเริ่มการทดสอบกับผู้ใช้จริง โดยตั้งเป้าที่จะขอใบรับรองให้สำเร็จภายในระยะเวลา 3 ปีและจะผลิตและวางจำหน่าย SmartHEAL ภายในปี 2025
โดยทีมนักประดิษฐ์ได้กล่าวว่า “เราตื่นเต้นมากที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับนานาชาติปีนี้ ถือเป็นโอกาสที่เราจะได้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเราหวังว่ามันจะช่วยเปลี่ยนโลกได้ เราจะพัฒนาผลงานของเราขึ้นไปอีกและผ่านขั้นตอนการทดสอบที่จำเป็นในการวางจำหน่าย SmartHEAL ในอนาคต เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้พูดคุยกับเซอร์เจมส์ ไดสัน จนถึงตอนนี้ คำว่า ‘ยินดีด้วย คุณคือผู้ชนะรางวัล James Dyson Award’ ยังดังอยู่ในหัวเราอยู่เลย เราแทบจะไม่เชื่อว่าเราได้ชนะแล้วจริง ๆ พวกเราดีใจมาก ๆ”
ข้อเท็จจริงและสถิติ
- มีการประมาณการณ์ว่าประชากรในประเทศพัฒนาแล้วจำนวน 1 ถึง 2 เปอร์เซ็นจะประสบกับอาการแผลเรื้อรัง
- การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยอย่างรวดเร็วจะส่งผลให้มีประชากรที่มีอาการแผลเรื้อรังมากขึ้น เนื่องจากอายุที่มากขึ้นส่งผลให้การสมานแผลลดลง
รางวัลชนะเลิศด้านความยั่งยืนระดับนานาชาติ – Polyformer ผลงานโดย Swaleh Owais และ Reiten Cheng
ปัญหาที่ Swaleh และ Reitan ประสบคือการขาดแคลนวัสดุสำหรับการพิมพ์สามมิติในประเทศรวันดา และราคาที่สูงเนื่องจากต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และการขาดแคลนระบบรีไซเคิลขวดพลาสติกในประเทศรวันดาอีกด้วย
โซลูชันของปัญหาเรื่องวัสดุสำหรับการพิมพ์สามมิติ
Polyformer คืออุปกรณ์ที่เปลี่ยนขวดพลาสติกเป็นวัสดุสำหรับการพิมพ์สามมิติราคาเข้าถึงได้ โดยจะทำการตัดขวดพลาสติกให้กลายเป็นเส้นยาวสำหรับใส่ในเครื่องพิมพ์สามมิติ
สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้มุ่งพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนาเนื่องจากวัสดุสำหรับการพิมพ์สามมิติที่ต้องนำเข้านั้นมีราคาสูง แต่ด้วย Polyformer จะทำให้นักออกแบบสามารถเข้าถึงวัสดุราคาถูกที่มีคุณภาพ และยังส่งเสริมให้เกิดการรีไซเคิลอีกด้วย
การเปลี่ยนขวดพลาสติกให้เป็นวัสดุสำหรับการพิมพ์สามมิติทำให้สามารถลดปริมาณขยะลงได้ และยังสามารถเพิ่มวัสดุให้นักออกแบบและวิศวกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่ขาดแคลน ไอเดียนี้จะขยายโอกาสสำหรับนักประดิษฐ์ในการพัฒนาตัวต้นแบบด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ” Sir James Dyson ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าวิศวกร Dyson กล่าว
ก้าวต่อไปของ Polyformer
ขณะนี้ Swaleh และ Reiten กำลังสร้าง Polyformer เครื่องใหม่ใน makerspace ที่ประเทศรวันดารวมถึงออกแบบเครื่องมืออื่น ๆ ภายใต้โปรเจกต์ Polyformer ได้แก่ Polyjoiner, Polydryer, และ Polyspooler
Swaleh และ Reitan กล่าวเพิ่มเติมว่า “ถือเป็นเกียรติของพวกเราอย่างมากที่ได้รับรางวัลด้านความยั่งยืนจาก James Dyson Award เราจะใช้เงินรางวัลที่ได้ในการสร้างเครื่อง Polyformer ใน makerspace ที่ประเทศรวันดา ซึ่งจะทำให้นักเรียน และนักออกแบบท้องถิ่นสามารถเข้าถึงวัสดุสำหรับการพิมพ์สามมิติที่มีราคาถูก ซึ่งหมายความว่าจะสามารถใช้เครื่องพิมพ์สามมิติได้บ่อยขึ้น หากคุณต้องการสร้างเครื่อง Polyformer ของคุณเองสามารถดูวิธีการได้ที่ช่อง Discord ของเรา https://discord.gg/77esvRwu”
ข้อเท็จจริงและสถิติ
- ตลาดการพิมพ์สามมิติทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 13,840 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 และคาดว่าจะเติบโตในอัตรา 20.8% ระหว่างปี 2022 จนไปถึง 2030
- ปัจจัยหลักที่ส่งเสริมการรีไซเคิลในประเทศกำลังพัฒนาคือการเข้าถึงบริการรีไซเคิลที่สะดวกรวดเร็ว
- คนที่สามารถเข้าถึงบริการรีไซเคิลได้มีแนวโน้มอยู่ที่ 25% ในการจะรีไซเคิล
รางวัลรองชนะเลิศระดับนานาชาติ – Ivvy ผลงานโดย Charlotte Blancke
ปัญหาที่ทำให้ Charlotte ริเริ่ม Ivvy มาจากเรื่องราวความยากลำบากในการใช้เสาน้ำเกลือของลูกเพื่อนแม่ โดยเพื่อนของแม่เธอได้กล่าวว่าเธอเปลี่ยนจากเสาน้ำเกลือมาใช้ที่แขวนเสื้อโค้ทแทนเพื่อความสบายของลูก
ในการศึกษาค้นคว้า Charlotte พบว่าการรักษาตัวที่บ้านมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น แต่อุปกรณ์ที่ใช้ยังคงเป็นแบบเดียวกับที่ใช้ในโรงพยาบาลถึงแม้สภาพแวดล้อมของการรักษาตัวที่บ้านจะแตกต่างจากการรักษาที่โรงพยาบาลโดยสิ้นเชิง
โซลูชันของปัญหาเกี่ยวกับเสาน้ำเกลือ
Ivvy จะมาแทนเสาน้ำเกลือ ด้วยการเป็นเครื่องสวมใส่ที่จะทำให้ผู้ใช้มีความคล่องตัวสูงสุด และตัว Infusion Pump ที่ใช้งานง่ายและซอฟต์แวร์ภายในตัวที่ทำให้สามารถติดต่อกับพยาบาลได้แบบไร้สาย
ในปัจจุบันตัว Infusion Pump มีหน้าตาที่ซับซ้อนและใช้งานยาก Charlotte จึงพัฒนาอินเทอร์เฟซให้ใช้งานง่ายขึ้น โดยพยาบาลจะสามารถติดตั้งเครื่องที่บ้านได้ง่ายและคนไข้สามารถติดตามการรักษาได้ผ่านหน้าจอ LED และเสียงแจ้งเตือน
“การใช้เสาน้ำเกลือแบบโบราณที่บ้านอาจทำให้รู้สึกเหมือนยังอยู่ที่โรงพยาบาล Ivvy นำเสนอคอนเซปต์ที่ง่ายแต่สามารถพัฒนาการรักษาของคนและพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ สิ่งนี้ถือเป็นการแสดงให้เห็นว่าการออกแบบที่เรียบง่ายแต่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด ผมหวังว่า Charlotte จะประสบความสำเร็จในการพัฒนา Ivvy ในเชิงพาณิชย์” Sir James Dyson ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าวิศวกร Dyson กล่าว
ก้าวต่อไปของ Ivvy
Charlotte ได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์เพื่อพัฒนา Ivvy ให้ดีขึ้นไปอีก
ข้อเท็จจริงและสถิติ
- เสาน้ำเกลือในปัจจุบันมีราคาสูงและดีไซน์ที่ใช้ยาก ไม่มีระบบสื่อสารแบบไร้สายระหว่างเสาน้ำเกลือและบุคลากรทางการแพทย์
- ดีไซน์ของเสาน้ำเกลือที่มีอยู่ตามท้องตลาดมีความเสี่ยงที่จะล้ม เนื่องจากมีความสูงมากและขนาดฐานที่แคบ
มูลนิธิ James Dyson Foundation
รางวัล James Dyson Award คือการแข่งขันด้านการออกแบบระดับนานาชาติประจำปีที่เปิดรับนักศึกษาหรือศิษย์เก่าด้านการออกแบบและวิศวกรรมมาร่วมแข่งขัน นับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการในปีพ.ศ. 2548 รางวัลดังกล่าวได้ให้ทุนสนับสนุนการประดิษฐ์เชิงพาณิชย์แก่สิ่งประดิษฐ์กว่า 300 รายการ โดยรางวัล James Dyson Award อยู่ภายใต้มูลนิธิ James Dyson ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลในระดับนานาชาติจากผลกำไรของ Dyson ที่มุ่งมั่นสนับสนุนวิศวกรรมศาสตร์และการศึกษา
โดยพันธกิจหลักของมูลนิธิคือการส่งเสริมวิศวกรและนักแก้ปัญหารุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นให้นำความรู้ความสามารถ รวมถึงคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ ในการพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น ปัจจุบัน James และมูลนิธิ James Dyson ได้ให้การสนับสนุนเงินถึง 12 ล้านปอนด์ให้แก่ Imperial College London เพื่อก่อตั้ง Dyson School of Design Engineering และเงินจำนวน 8 ล้านปอนด์ ให้แก่ Cambridge University เพื่อก่อตั้ง Dyson Centre for Engineering Design และตึก James Dyson
นอกจากนี้มูลนิธิ James Dyson ยังมีการเปิดเวิร์คช็อปหุ่นยนต์ โดยวิศวกรของ Dyson และเป็นแหล่งข้อมูลด้านการศึกษาฟรีอีกด้วย ซึ่งรวมถึงการเปิดตัว Engineering Solutions: Air Pollution ล่าสุดที่แนะนำให้คนหนุ่มสาวเรียนรู้เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศและบทบาทของวิศวกรรมในการหาแนวทางแก้ไข
รวมถึงสนับสนุนงานวิจัยทางการแพทย์และชุมชนท้องถิ่นในเมือง Malmesbury ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงาน Dyson ในสหราชอาณาจักรอีกด้วย มูลนิธิเริ่มก่อตั้งศูนย์มะเร็ง Dyson Cancer Centre ณ โรงพยาบาล Royal United ในเมือง Bath พร้อมให้การสนับสนุนด็อกเตอร์ Claire Durrant ในฐานะ Race Against Dementia Dyson Fellow ในการเร่งหาวิธีการรักษาโรคอัลไซเมอร์ที่ดีกว่าอย่างต่อเนื่อง
ช่องทางการติดตาม เว็บไซต์, Instagram, Twitter และ YouTube
เกี่ยวกับทีมนักประดิษฐ SmartHEAL
ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ James Dyson Award ในปีนี้ได้แก่ Tomasz Raczynski, Dominik Baraniecki, และ Piotr Walter โดยทั้งหมดเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ โดยทั้งสามคนได้พูดคุยกับบุลกรทางการแพทย์อยู่หลายครั้ง จนค้นพบปัญหาเกี่ยวกับบาดแผลเรื้อรังและสามารถสร้าง SmartHEAL ได้ในที่สุด
เกี่ยวกับทีมนักประดิษฐ์ Polyformer
ผู้ชนะรางวัลด้านความยั่งยืนในปีนี้ได้แก่ Swaleh Owais นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาตร์ มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ประเทศแคนาดา และ Reiten Cheng นักศึกษาออกแบบอุตสาหกรรมจาก ArtCenter College of Design จากสหรัฐอเมริกา ทั้งสองคนพบกันในกลุ่มออนไลน์ของนักโปรแกรมเมอร์ โดย Swaleh ทำงานในโรงพิมพ์สามมิติในรวันดา และประสบกับปัญหาการขาดแคลนวัสดุที่ใช้ในการพิมพ์ จึงเกิดเป็น Polyformer ขึ้นมา
เกี่ยวกับนักประดิษฐ์ Ivvy
Charlotte Blancke นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแอนต์เวิร์ปผู้กำลังมองหาหัวข้อวิทยานิพนธ์ ได้ฟังเรื่องราวจากเพื่อนของแม่เกี่ยวกับความไม่สบายในการใช้เสาน้ำเกลือของลูก เธอจึงเกิดไอเดีย Ivvy ที่เป็นอุปกรณ์ให้น้ำเกลือที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน
ผู้ชนะในปีที่ผ่านมา
เครื่องมือตรวจแรงดันในลูกตาที่สามารถช่วยตรวจโรคต้อหินที่สามารถทำได้ที่บ้านและไม่เจ็บปวด, ผลงานโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS)
เครื่องมือราคาย่อมเยา ที่สามารถตรวจสอบชนิดของพลาสติกเพื่อการรีไซเคิล, ผลงานโดย Jerry de Vos จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี Delft (TU Delft)
เครื่องมือที่ช่วยหยุดการไหลของเลือดเพื่อช่วยเหยื่อจากการถูกแทง, ผลงานโดย Joseph Bentley จากมหาวิทยาลัยลัฟบะระ (Loughborough university)
ผลงานโดย Judit Giró Benet อายุ 23 ปี, Blue Box คือวิธีตรวจสอบมะเร็งเต้านมแบบใหม่ที่ทำได้ที่บ้าน โดยใช้ตัวอย่างปัสสาวะและ AI algorithm
ผลงานโดย Carvey Ehren Maigue อายุ 27 ปี, AuREUS คือวัสดุชนิดใหม่ที่ทำจากขยะทางเกษตรกรรมที่สามารถเปลี่ยนแสง UV ให้กลายเป็นพลังงานได้
เกี่ยวกับการประกวดโจทย์
ออกแบบสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ โดยปัญหานี้อาจเป็นสิ่งที่เราพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันหรือเป็นปัญหาระดับโลกก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือวิธีการแก้ปัญหาต้องมีประสิทธิภาพและแสดงให้เห็นถึงการคิดเชิงออกแบบ
ขั้นตอนการตัดสิน
ผู้เข้าประกวดจะถูกคัดเลือกในระดับประเทศโดยคณะกรรมการอิสระและวิศวกรจาก Dyson โดยในแต่ละประเทศจะเฟ้นหาตัวแทนเพื่อหาผู้ชนะเลิศอันดับหนึ่งและรองชนะเลิศสองอันดับ จากนั้นวิศวกรจาก Dyson จะทำการคัดเลือก 20 ผู้เข้ารอบในระดับประเทศเพื่อทำการคัดเลือกต่อไปในระดับนานาชาติ ซึ่งผลงานจากผู้เข้ารอบทั้ง 20 โครงการจะได้รับการพิจารณาโดย James Dyson เพื่อคัดเลือกหาผู้ชนะในระดับนานาชาติต่อไป
รางวัล
- รางวัลชนะเลิศระดับนานาชาติ คัดเลือกโดย James Dyson รับเงินรางวัลสูงสุดมูลค่า 1,330,000 บาท*
- รางวัลรองชนะเลิศระดับนานาชาติ รับเงินรางวัลมูลค่า 222,000 บาท*
- รางวัลชนะเลิศระดับประเทศ รับเงินรางวัลมูลค่า 222,000 บาท*
*มูลค่าของเงินรางวัลเปลี่ยนแปลงตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ