ใกล้ถึงช่วงปิดเทอมแบบนี้เด็กหลายคนมักจะชื่นชอบออกมาวิ่งเล่นตากแดดท่ามกลางอากาศร้อนและแสงแดดจัดเป็นเวลานานๆ อาจทำให้เกิดอาการเพลียแดดได้ โดยอาการเพลียแดดจะค่อย ๆ เกิดขึ้น และอาจนำไปสู่อาการเจ็บป่วยจากความร้อนอื่น ๆ โดยเฉพาะโรคลมแดด (Heatstroke) ซึ่งเป็นภาวะร้ายแรงที่อาจส่งผลต่อสมองและอวัยวะสำคัญอื่นๆ ดังนั้น ควรป้องกันการเกิดภาวะเพลียแดดและหากลูกเกิดอาการเพลียแดดควรให้ลูกได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดอาการร้ายแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
อาการของโรคลมแดด
- ตัวร้อน อุณหภูมิสูงมิร่างกายสูง อาจสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- สับสนเฉียบพลัน หงุดหงิดฉุนเฉียว พูดไม่รู้เรื่อง เพ้อ ชัก หรือหมดสติ
- คลื่นไส้และอาเจียน
- ผิวหนังแดงร้อน
- หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบถี่
การรักษาโรคลมแดด
- โรคลมแดดเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
- ลดอุณหภูมิร่างกายของผู้ป่วยเพื่อป้องกันหรือลดความเสียหายที่อาจเกิดต่อสมองและอวัยวะสำคัญ ด้วยวิธีต่างๆ เช่น การแช่น้ำเย็น ประคบน้ำแข็งบริเวณข้อพับ
- ให้สารน้ำและยาตามอาการ เช่น ยากันชักในผู้ป่วยที่มีอาการชัก
- เฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะกล้ามเนื้อสลาย ไตวายฉับพลัน
วิธีป้องกันโรคลมแดด
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่บริเวณอากาศร้อนมากๆ เป็นเวลานาน
- สวมเสื้อผ้าสีอ่อน ระบายอากาศได้ดี
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
- ใช้พัดลมหรือเครื่องปรับอากาศลดอุณหภูมิในอาคาร
- ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ในรถที่จอดทิ้งไว้ตามลำพัง
หากสงสัยว่ามีอาการของโรคลมแดด
- ออกจากบริเวณที่มีอากาศร้อน
- ลดอุณหภูมิของร่างกาย เช่น ถอดเสื้อผ้าชิ้นหนา เช็ดตัวด้วยผ้าขนหนูชุบน้ำ
- ดื่มน้ำ
- ควรพาผู้ป่วยเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ทันที เนื่องจากโรคลมแดดเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรักษาด่วนเพื่อป้องกันการเสียชีวิต
บทความโดย แพทย์หญิง พุทธธิดา เฉตวงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC)
ศูนย์ภูมิแพ้เด็ก ชั้น2 โทร 02-836-9999 ต่อ 2721-2