โภชนาการสำหรับผู้สูงวัย 2

“มวลกล้ามเนื้อน้อย” ในผู้สูงอายุ หกล้มง่ายอันตรายมากกว่า “การออกกำลังกายและโภชนาการที่เหมาะสม” ช่วยลดความเสี่ยงได้


โภชนาการสำหรับผู้สูงวัย 5

รู้หรือไม่? ภายใน 1 ปีมีผู้สูงอายุที่เสียชีวิตจากการหกล้ม “กระดูกสะโพกหัก” อัตราสูงถึง 22% ซึ่งสาเหตุเกิดจากอุบัติเหตุภายในบ้าน เช่น ลื่นล้มในห้องน้ำและตกจากเตียง เป็นต้น เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีภาวะกระดูกพรุนและมวลกล้ามเนื้อน้อย หรือภาวะกล้ามเนื้อฝ่อลีบ (Sarcopenia) ร่วมด้วย ทำให้กระดูกสะโพกหักได้ง่ายแม้หกล้มไม่รุนแรง

คุณหมอกรกฎ 1

ผศ.นพ. กรกฎ พานิช แพทย์ที่ปรึกษาศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ โรงพยาบาลนนทเวชและโรงพยาบาลธนบุรี สมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านโภชนาการของเฮอร์บาไลฟ์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุและอันตรายของภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย พร้อมทั้งแนะนำวิธีเพิ่มมวลกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุไว้อย่างน่าสนใจว่า “เมื่ออายุมากขึ้นมวลกล้ามเนื้อของคนเราจะลดลง เริ่มตั้งแต่อายุ 30 ปี มีการสูญเสียประมาณ 1% และจะลดลงอย่างรวดเร็วช่วงอายุ 40-50 ปี แต่ไม่ใช่ทุกคนจะมีปัญหาเหมือนกันหมด ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้มวลกล้ามเนื้อน้อยลงคือ การไม่ออกกำลังกายและความอ้วน เพราะไขมันจะเข้าไปแทรกในกล้ามเนื้อ ส่งผลให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง รวมถึงการทำงานของระบบประสาทที่เชื่อมระหว่างสมองกับใยกล้ามเนื้อจะเสื่อมไปตามวัย ทำให้มีการสลายของมวลกล้ามเนื้อมากกว่าการสร้าง

โภชนาการสำหรับผู้สูงวัย 6

นอกจากนี้ การสูญเสียมวลกระดูกและมวลกล้ามเนื้อ รวมถึงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการที่มีอายุมากขึ้นเสมอไป แต่การมีโรคประจำตัวก็ทำให้เกิดภาวะนี้เพิ่มขึ้นด้วย เช่น ในคนที่เป็นโรคระบบหลอดเลือดและหัวใจ หรือโรคเบาหวาน พบได้ประมาณ 30% ส่วนในคนที่มีภาวะสมองเสื่อม พบได้ประมาณ 26%

โภชนาการสำหรับผู้สูงวัย 3

อันตรายในผู้สูงอายุที่มีภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย ไม่ใช่แค่หกล้มง่ายและบ่อย เพราะในผู้สูงอายุที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมักจะพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายร่วมด้วย ความสามารถในการออกกำลังกายต่ำและมีอัตราการตายจากหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น ส่วนผู้สูงอายุที่ไม่มีอาการโรคหลอดเลือดหัวใจ       แต่ตรวจพบหลอดเลือดแดงมีความแข็งไม่ยืดหยุ่น (Stiff) และผนังหลอดเลือดแดงหนาขึ้น หากมีภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยจะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างการวิจัยที่พบว่าในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มวลกล้ามเนื้อปกติประมาณ 1.7 เท่า

ผศ.นพ. กรกฎ แนะนำเพิ่มเติมว่า “ผู้สูงอายุสามารถเพิ่มมวลกล้ามเนื้อได้ด้วยการออกกำลังกาย ร่วมกับการได้รับสารอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการสร้างกล้ามเนื้อ กระดูกและฟื้นฟูระบบประสาท รวมทั้งการเคลื่อนไหวร่างกาย” การออกกำลังกาย ต้องระวังและทำให้ถูกวิธี เพราะผู้สูงอายุมีปัญหาข้อเสื่อม กระดูกพรุนร่วมกับมวลกล้ามเนื้อน้อย ทำให้ไม่มีแรงออกกำลังกาย เหนื่อยง่าย หรือมีอาการปวดเมื่อออกกำลังกาย จึงควรเริ่มออกกำลังกายครั้งละน้อยๆ เท่าที่ทำไหว เช่น ดึงยางยืด หรือทำท่าลุกจากเก้าอี้ช้าๆ 3-5 ครั้งต่อเซ็ต วันละ 1-2 รอบ หากไม่มีอาการปวดในวันถัดไปให้คงไว้เท่าเดิม แล้วค่อยเพิ่มจำนวน 1-2 ครั้งต่อเซ็ตในสัปดาห์ถัดไป ร่วมกับเดิน ว่ายน้ำ หรือขี่จักรยาน 5-10 นาที เท่าที่ไม่เหนื่อยเกินไป แล้วค่อยเพิ่มครั้งละ 10% เมื่อร่างกายชิน อย่าหักโหม เพราะถ้าบาดเจ็บจะรักษายากและนาน

โภชนาการสำหรับผู้สูงวัย 1

“ปัญหาขาดสารอาหาร” ผู้สูงอายุมักรับประทานอาหารได้น้อยลง เกิดจากหลายปัจจัย เช่น ปัญหาในการเคี้ยว ที่มีการวิจัยในผู้สูงอายุของไทยพบว่ามีอัตราสูงถึง 50% ร่วมด้วยภาวะอื่นๆ อาทิ     ยารักษาโรคทำให้ปริมาณน้ำลายลดลง การรับรสเสีย อาหารย่อยช้าทำให้อิ่มนานและท้องผูก เป็นต้น ล้วนทำให้เบื่ออาหาร ซึ่งปัญหาที่พบบ่อยคือ การขาดโปรตีนและวิตามินดี เนื่องจากการบริโภคโปรตีนไม่เพียงพอ เช่น ต่ำกว่า 0.8 กรัม/น้ำหนักตัว(กก.)/วัน เมื่อร่วมกับภาวะขาดวิตามินดี ที่คนสูงอายุโดยเฉพาะคนในเมืองมักจะไม่ค่อยโดนแดด ทำให้มวลกล้ามเนื้อลดลง นอกจากนี้ การขาดธาตุเหล็กในผู้สูงอายุยังทำให้ภาวะโลหิตจางพบได้บ่อย ส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะง่าย ไม่อยากเคลื่อนไหว 

จากการวิจัยในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย โดยให้สารอาหารครบถ้วน ประกอบด้วย เวย์โปรตีน, กรดอะมิโนลิวซีน, วิตามินดี วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 13 สัปดาห์ พบว่ามวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นและทดสอบลุกจากเก้าอี้ได้เร็วขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้เฉพาะคาร์โบไฮเดรต สะท้อนว่าการได้รับสารอาหารในผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญ เพราะผู้สูงอายุจะรับประทานได้น้อย ดังนั้น ในกรณีเร่งด่วนหรือรับประทานอาหารไม่เพียงพอ ควรเสริมด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีสารอาหารครบถ้วนหลากหลาย โดยรับประทานควบคู่กับอาหารมื้อหลัก เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน” ผศ.นพ. กรกฎ กล่าวทิ้งท้าย 

เอกสารอ้างอิง

1.Downey C, et al. World J Orthop 2019 March 18; 10(3): 166-175

2.Pacifico J, et al. Experimental Gerontology 131 (2020) 110801

3.Damluji A A, et al. Circulation. 2023;147:1534–1553

4.Zhang et al. BMC Cancer (2020) 20:172

5.Chuansangeam M, et al. Asia Pac J Clin Nutr 2022;31(1):128-141

6.Bauer J M, et al. JAMDA 16 (2015) 740-747