![กรมควบคุมโรค ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายลดบริโภคเค็ม และสสส. ผลักดันนโยบายลดการบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีภายในปี 2568 3 1675765591640](https://coolzaa.com/wp-content/uploads/2023/02/1675765591640.jpg)
วันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2566) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานการประชุมผนึกกำลังความร่วมมือตามยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2559-2568 ร่วมกับ ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา และวิทยาลัยธุรกิจการอาหารไทยและนานาชาติ ซึ่งการประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันแผนนโยบายยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียม ตั้งเป้าหมายให้ประชาชนร่วมมือกันลดโซเดียมในอาหารให้ได้ร้อยละ 30 เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “ประชาชนมีสุขภาพดีจากการบริโภคเกลือและโซเดียมลดลง”
![กรมควบคุมโรค ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายลดบริโภคเค็ม และสสส. ผลักดันนโยบายลดการบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีภายในปี 2568 4 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์](https://coolzaa.com/wp-content/uploads/2023/02/1675765591720.jpg)
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า นโยบายยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมว่า โรคไม่ติดต่อ หรือ กลุ่มโรค NCDs ประกอบด้วยหลายโรคหลัก เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมถึงโรคไตเรื้อรัง เหล่านี้เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญระดับประเทศ ซึ่งประชาชนไทยขณะนี้มีการบริโภคโซเดียมสูงเป็น 1.8 เท่าของปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเป็นปริมาณเกลือ ไม่ควรเกิน 1 ช้อนชาต่อวัน การได้รับโซเดียมเกินอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมีคนไทยป่วยด้วยโรคที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียมสูงถึง 22.05 ล้านคน (โรคความดันโลหิตสูง 13.2 ล้านคน โรคไต 7.6 ล้านคน โรคหัวใจขาดเลือด 0.75 ล้านคน โรคหลอดเลือดสมอง 0.5 ล้านคน)
![กรมควบคุมโรค ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายลดบริโภคเค็ม และสสส. ผลักดันนโยบายลดการบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีภายในปี 2568 5 1675765591539](https://coolzaa.com/wp-content/uploads/2023/02/1675765591539.jpg)
นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้กองโรคไม่ติดต่อ ดำเนินการขับเคลื่อนการลดบริโภคโซเดียมระดับจังหวัด ตั้งเป้าหมายให้ประชาชนลดการบริโภคโซเดียมลง ร้อยละ 30 ภายในปี 2568 มีการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขต และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในปี พ.ศ. 2563 – 2566 รวมทั้งสิ้น 36 จังหวัด และมีแผนขยายผลการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมระดับจังหวัดให้ครอบคลุมทุกจังหวัด ภายในปี 2568
![กรมควบคุมโรค ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายลดบริโภคเค็ม และสสส. ผลักดันนโยบายลดการบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีภายในปี 2568 6 1675765591684](https://coolzaa.com/wp-content/uploads/2023/02/1675765591684.jpg)
ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หนึ่งในพันธกิจของมหาวิทยาลัยมหิดลคือ การให้บริการทางวิชาการ โดยมหาวิทยาลัยมหิดลได้ให้ทุนสนับสนุน “โครงการสังเคราะห์นโยบายเพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์การปรับขยายมาตรการใช้เครื่องตรวจวัดโซเดียมคลอไรด์ในอาหารร่วมกับการให้ความรู้ในชุมชนของประเทศไทยนอกพื้นที่นำร่อง” เพื่อทำความเข้าใจโครงสร้างของระบบสุขภาพและบริบทการบริโภคอาหารในแต่ละภูมิภาค ซึ่งเป็นที่มาของพฤติกรรมทั้งที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับประสิทธิผลของการดำเนินงานนโยบายชุมชนลดเค็มในประเทศไทย โดยใช้กระบวนการคิดเชิงระบบ สังเคราะห์ความรู้และถอดบทเรียนสำหรับพัฒนาเป็นคู่มือการปฏิบัติงานเรื่องชุมชนลดเค็มในประเทศไทย สื่อสารข้อเสนอเชิงนโยบายและผลักดันขยายผลให้เกิดเป็นชุมชนลดเค็มในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือ และโซเดียมในประเทศไทย ปี พ.ศ.2559-2568 โดยภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่มาร่วมกันในวันนี้ ซึ่งความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นจะนำมาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทยทั้งประเทศ การประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยโรคไตในภาพรวมของประเทศที่จะลดลงในอนาคต
![กรมควบคุมโรค ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายลดบริโภคเค็ม และสสส. ผลักดันนโยบายลดการบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีภายในปี 2568 7 นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์](https://coolzaa.com/wp-content/uploads/2023/02/1675765591591.jpg)
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า การสำรวจปริมาณโซเดียมในอาหารด้วยเครื่องวัดความเค็ม (Salt Meter) จัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนการสำรวจแหล่งอาหารท้องถิ่นที่มีปริมาณโซเดียมสูง ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการบริโภคโซเดียมของประชากรการวัดระดับโซเดียมในอาหารท้องถิ่นด้วยเครื่องวัดความเค็มเป็นวิธีที่ง่าย ไม่ต้องส่งตรวจห้องปฏิบัติการทางอาหารและแสดงผลได้รวดเร็วสร้างความตื่นตัวให้ประชาชน การบริโภคโซเดียมสูงอย่างต่อเนื่องแบบไม่รู้ตัวทำให้มีระดับความดันโลหิตสูงขึ้นส่งผลต่อปัญหาสุขภาพต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต เป็นต้น ซึ่งมาตรการใช้เครื่องวัดความเค็มในอาหารร่วมกับการให้ความรู้ในชุมชนของประเทศไทยได้มีการทดสอบในพื้นที่นำร่องบริการสุขภาพ เขต 1, 2, 3, 8 และ 10 นอกจากนี้ ทางเครือข่ายลดบริโภคเค็มร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลและองค์การอนามัยโรคประจำประเทศไทย ได้เก็บข้อมูลพื้นที่เพื่อทดสอบประสิทธิผลของชุดมาตรการลดบริโภคเค็ม 4 กิจกรรม ได้แก่ การให้ความรู้ การปรับสูตรอาหาร การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม และใช้เครื่องตรวจวัดความเค็มในอาหาร ในการลดความดันโลหิตและลดการบริโภคโซเดียมตามบริบทการบริโภคอาหารของพื้นที่ ผลการศึกษาพบว่ามาตรการใช้เครื่องตรวจวัดความเค็มในอาหารร่วมกับการให้ความรู้ในชุมชนผ่านกลไกการทำงานของระบบบริการสุขภาพภาครัฐสามารถลดความดันโลหิตและลดการบริโภคเค็มได้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงได้เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนเริ่มมีการใช้เครื่องตรวจวัดความเค็มในอาหาร
ทั้งนี้ เครือข่ายลดบริโภคเค็มให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในระดับประเทศสำหรับต่อยอดการพัฒนาในระยะต่อไป โดยการขยายมาตรการใช้เครื่องตรวจวัดความเค็มในอาหารเพื่อเป็นอุปกรณ์ส่งเสริมการปรับปรุงสูตรลดโซเดียมและรสชาติของเมนูอาหารในร้านอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ตร่วมกับการให้ความรู้ในชุมชน ผ่านสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์หรือการทำงานในพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายอื่นๆของประเทศไทย
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า สสส. ได้ร่วมกับเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม รณรงค์ขับเคลื่อนสังคมด้วยองค์ความรู้ นวัตกรรม และการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ ลดการบริโภคเค็ม (โซเดียม) พร้อมทั้งส่งเสริมการจัดสภาพแวดล้อมด้านอาหารเพื่อสุขภาวะที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค นำไปสู่การลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) และการประชุมในครั้งนี้ ขอหยิบยกในเรื่องของ แคมเปญใหญ่ “ลดซด ลดปรุงลดโรค” ในโครงการลดเค็ม ลดโรค รณรงค์ให้คนไทยเห็นภัยร้ายจากการกินโซเดียมเกินมาตรฐาน ซึ่งเกิดขึ้นจากการวิเคราะห์โจทย์หลายอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น คนไทยส่วนใหญ่ชอบกินน้ำซุปทุกมื้ออาหาร จากอาหารประเภท แกงจืด ก๋วยเตี๋ยว ต้มยำ พะโล้ ข้าวมันไก่และอาหารประเภทต้ม โดยไม่รู้ว่าน้ำซุปที่กินเข้าไปเป็นอันตราย เนื่องจากมีโซเดียมซ่อนอยู่ทั้งในวัตถุดิบต่างๆ และน้ำซุป รวม 1,400 – 1,500 มิลลิกรัม/ชาม หากกินหมดชามแถมซดน้ำซุปจนเกลี้ยง เท่ากับ 1 มื้อ ร่างกายจะได้รับโซเดียมเกือบถึงเกณฑ์ใน 1 วันแบบไม่รู้ตัว ขนาดยังไม่ได้รวมกับมื้ออื่นๆ เลย
สำหรับแคมเปญดังกล่าว เป็นการสื่อสารให้คนไทยปรับพฤติกรรมการกินและเห็นถึงภัยร้ายจากโซเดียม ลดการซดน้ำซุป น้ำผัด น้ำแกง น้ำยำ ในแต่ละมื้ออาหาร ให้น้อย สามารถติดตามได้ทางสื่อโทรทัศน์ ออนไลน์ และเฟซบุ๊กแฟนเพจ ลดพุง ลดโรค นอกจากนี้ สสส. และเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม ยังได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขและกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนมาตรการลดการบริโภคเกลือโซเดียมในประชากรไทย โดยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนมาตรการภาษีโซเดียม สร้างกติกากลางให้กับภาคอุตสาหกรรมเพื่อนำไปสู่การปรับสูตรลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนอีกด้วย
ข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยมหิดล/สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ/
เครือข่ายลดบริโภคเค็ม/กองโรคไม่ติดต่อ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566