มูลนิธิอาเซียนเผยผลวิจัยด้านความฉลาดรู้ดิจิทัล เน้นย้ำถึงความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลทั่วภูมิภาค


มูลนิธิอาเซียนภายใต้การสนับสนุนของ Google.org ได้เปิดเผยผลการวิจัยและข้อมูลเชิงลึกต่าง ๆ เกี่ยวกับความฉลาดรู้ด้านดิจิทัลในงานสัมมนาระดับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 ณ กรุงเทพมหานคร ภายใต้หัวข้อ “One Divide or Many Divides? Underprivileged ASEAN Communities’ Meaningful Digital Literacy and Response to Disinformation” การศึกษานี้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมทางดิจิทัลของเหล่าชุมชนในภูมิภาคอาเซียนที่ด้อยโอกาส โดยจะวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ในหลาย ๆ มิติ อาทิ ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และการตอบสนองต่อการบิดเบือนข้อมูล โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับบทบาทของความรู้ด้านดิจิทัลในการรับรู้และตอบสนองต่อการบิดเบือนข้อมูลภายในชุมชนเหล่านี้

การวิจัยนี้เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของโครงการเสริมสร้างความฉลาดรู้ด้านดิจิทัลในอาเซียน (ASEAN Digital Literacy Programme: ASEAN DLP) ซึ่งโครงการนี้ได้ช่วยเหลือผู้คนมากกว่า 190,000 คนทั่วอาเซียนให้ได้รับทักษะด้านดิจิทัลที่จำเป็น อีกทั้ง โครงการ ASEAN DLP นำโดยกลุ่มที่ปรึกษาเยาวชนอาเซียน (Youth Advisory Group: YAG) ซึ่งเป็นผู้นำร่องแคมเปญผ่านโซเชียลมีเดียที่เข้าถึงผู้คนได้กว่า 3,000 คน ผ่านกิจกรรมนอกสถานที่ และเชื่อมต่อกับผู้คนมากกว่า 900,000 คนบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ ยังได้มีการเปิดตัวแพลตฟอร์มอีเลิร์นนิง (E-Learning) ที่จะช่วยรับมือกับการให้ข้อมูลที่ผิดและการบิดเบือนข้อมูล บนเว็บไซต์ www.DigitalClassASEAN.org

“ในขณะที่โครงการเสริมสร้างความฉลาดรู้ด้านดิจิทัลในอาเซียนครั้งล่าสุดได้จบลง มูลนิธิอาเซียนขอเชิญเหล่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเชิงกลยุทธ์เข้าร่วมและหารือเกี่ยวกับรายงานการศึกษาและการวิจัย โดยงานวิจัยนี้ครอบคลุมถึงการสำรวจเชิงปริมาณและการรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ การนำเสนอในการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถรับฟังข้อมูลเชิงลึกและคำแนะนำจากประเทศสมาชิก และพร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดการสนทนาในเชิงลึกกับเหล่านักวิจัยจากแต่ละประเทศ เราหวังว่างานวิจัยนี้จะช่วยเป็นสะพานเชื่อมความแตกต่างทางดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน และสร้างพื้นที่ดิจิทัลที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน” ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอาเซียน กล่าว

ตามรายงาน ระดับความคิดอย่างมีวิจารณญาณและความสามารถในการปกป้องความเป็นส่วนตัวของประชากรในประเทศสมาชิกอาเซียนมีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยเฉพาะที่ประเทศไทยซึ่งมีเปอร์เซ็นต์ของบุคคลที่มีทักษะในการคิดอย่างมีเหตุผลสูงที่สุดเพียง 25% เปรียบเทียบกับประเทศกัมพูชาที่มีสัดส่วนที่น่าประทับใจถึง 62.2% ในขณะที่ฟิลิปปินส์ก็ยังคงตามหลังอยู่ในด้านการปกป้องความเป็นส่วนตัว โดยมีเพียง 17.42% ของบุคคลที่มีความชำนาญสูง ในขณะที่สิงคโปร์นั้นมีตัวเลขนี้คิดเป็นร้อยละ 54.37%

ตามรายงาน ได้กล่าวถึงว่าประเทศไทยพบว่ามีช่องโหว่ชัดเจนในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างพื้นที่ในเมืองและชนบท ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการวิเคราะห์และความชำนาญเกี่ยวกับข้อมูลในหมู่ประชากร โดยมีอัตราส่วนที่ต่ำที่สุดของการคิดคิดอย่างมีวิจารณญาณสูง (25%) และความชำนาญเกี่ยวกับข้อมูล (42.58%) ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ากลุ่มประเทศในอาเซียนอื่น ๆ ที่ได้รับการสำรวจ แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามปรับปรุงการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการผนวกรวมเทคโนโลยีดิจิทัลในการศึกษาตามที่เน้นไว้ในแผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ. 2560-2579) และขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไปยังพื้นที่ชนบทที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น เน็ตประชารัฐ และกฎหมายบริการสาธารณะ (USO) อย่างไรก็ตาม ประเทศยังต้องเผชิญกับมีความท้าทายที่ยังคงอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มคนชายขอบและผู้ด้อยโอกาส

ระดับความเชื่อมั่นที่ต่ำในสื่อโซเชียลมีเดีย (42.97%) และความมั่นใจในการแบ่งปันข่าวสารสะท้อนให้เห็นถึงจำนวนของข่าวเท็จที่มีอยู่อย่างแพร่หลาย จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการที่สมดุลและมีประสิทธิภาพมารองรับการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ นอกจากนี้ยังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ถึงการพยายามของรัฐบาลในการต่อต้านข่าวปลอมโดยมีนิยามที่ไม่ชัดเจนและอาจมีการปกปิดความคิดเห็นที่ต่าง การปิดกั้นการมองเห็นเนื้อหาและการจำกัดตัวเองในการสื่อสารมีอยู่อย่างแพร่หลายในกลุ่มนักข่าวและผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ดังนั้น การพยายามของประเทศไทยในการเพิ่มการเข้าถึงและความรู้ด้านดิจิทัลจะต้องมีกลยุทธ์ที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณและส่งเสริมการต่อสู้กับข้อมูลที่ไม่แม่นยำอย่างมีประสิทธิภาพ

จากข้อมูลที่ค้นพบครั้งนี้ มูลนิธิอาเซียนมีเป้าหมายที่จะจุดประกายการเสวนาและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเหล่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อจัดการกับความท้าทายด้านความรู้ดิจิทัลในหลายมิติที่ภูมิภาคอาเซียนกำลังเผชิญ โดยมีจุดประสงค์เพื่อการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของชุมชนต่อข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือบิดเบือนผ่านโครงการที่ให้ความรู้ดิจิทัลที่ครอบคลุมและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยคำนึงถึงความแตกต่างของโครงสร้างพื้นฐาน อิทธิพลทางสังคม วัฒนธรรม และความคิดริเริ่มที่แตกต่างกันในภูมิภาคอาเซียน

มาริจา ราลิค  หัวหน้าประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกGoogle.org กล่าวว่า “เรามีความภาคภูมิใจที่ได้สนับสนุนมูลนิธิอาเซียนในการเพิ่มทักษะดิจิทัลด้านต่าง ๆ แก่ผู้คนทั่วทั้งภูมิภาค เพื่อให้รู้ทันสื่อ และปลอดภัยในโลกออนไลน์ โดย Google.org มีความตั้งใจที่จะส่งเสริมความปลอดภัยด้านดิจิทัลให้สอดคล้องกับพันธกิจของมูลนิธิอาเซียนในการเสริมศักยภาพชุมชนอาเซียนผ่านการรู้เท่าทันดิจิทัล ซึ่งจะส่งผลให้อาเซียนมีความยืดหยุ่นทางดิจิทัล” โดยก่อนหน้านี้ ทาง  Google.org ได้ให้การสนับสนุนแก่มูลนิธิอาเซียน จำนวน 1.5 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือการดำเนินการตามโครงการเสริมสร้างความฉลาดรู้ด้านดิจิทัลในอาเซียน (ASEAN Digital Literacy Programme: DLP) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565-2567

นอกจากนี้ การประชุมสัมมนาระดับภูมิภาคอาเซียนยังได้รับเกียรติจากประธานคณะกรรมการมูลนิธิอาเซียน ตัวแทนจาก Google.org ตัวแทนจากสำนักเลขาธิการอาเซียน พันธมิตรท้องถิ่นของโครงการ DLP หน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้ทางดิจิทัลในภูมิภาคมาร่วมงาน โดยการสัมมนาได้ปิดท้ายลงด้วยการอภิปรายใต้หัวข้อ “From Divide to Empowerment: Strategies for Inclusive Digital Literacy in ASEAN” ที่มีการสนทนาในประเด็นเกี่ยวกับกลยุทธ์การเสริมสร้างศักยภาพสู่ความรู้ด้านดิจิทัลแบบครอบคลุม โดยเฉพาะในชุมชนผู้ด้อยโอกาสในภูมิภาคอาเซียน

เกี่ยวกับมูลนิธิอาเซียน

หลังจากที่ประชาคมอาเซียนก่อตั้งมาเป็นเวลาสามทศวรรษ บรรดาผู้นำอาเซียนต่างตระหนักถึงความสำคัญของการแบ่งปันประโยชน์ร่วมกันในหมู่สมาชิก การสร้างความตระหนักรู้ และการติดต่อสื่อสารกันระหว่างประชาชนในอาเซียนที่ยังขาดการดำเนินการที่เหมาะสม ส่งผลให้มีการจัดตั้งมูลนิธิอาเซียนขึ้นในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษในโอกาสครบรอบ 30 ปี ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2540 

สำนักงานมูลนิธิอาเซียนตั้งอยู่ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยเป็นองค์กรที่ก่อตั้งโดยชาวอาเซียนเพื่อประชาชนอาเซียน ด้วยวิสัยทัศน์เพียงหนึ่งเดียวคือการสร้างความมั่งคั่งและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาคมอาเซียน โดยมีหน้าที่สนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้ อัตลักษณ์ ปฏิสัมพันธ์ และพัฒนาการของประชาชนในภูมิภาคอาเซียน ท่านสามารถดูข้อมูล และรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมูลนิธิอาเซียนได้ที่ www.aseanfoundation.org

เกี่ยวกับ Google.org  

Google.org ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลของกูเกิล (Google) ที่นำสิ่งที่ดีที่สุดของ Google มาช่วยแก้ปัญหาความท้าทายต่าง ๆ ของมนุษยชาติ โดยผสมผสานการระดมทุน การบริจาคผลิตภัณฑ์ และความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคเพื่อสนับสนุนชุมชนที่ด้อยโอกาสและมอบโอกาสให้กับทุก ๆ คน เราได้ร่วมกับองค์กรไม่แสวงผลกำไร กิจการเพื่อสังคม และหน่วยงานพลเมืองที่สร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อชุมชนที่พวกเขาให้บริการ และเหล่าผู้คนที่งานของพวกเขามีศักยภาพในการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างความหมายในหลาย ๆ ระดับ