ในช่วงครึ่งปีแรกปี 2566 บก. ปอศ. เข้าจับกุมองค์กรธุรกิจ 104 แห่งฐานใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย รวมมูลค่าซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิกว่า 100 ล้านบาท
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เปิดเผยรายงานกรณีการบุกตรวจค้นสำนักงานใหญ่ของบริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมโยธาฯ แห่งหนึ่งซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายและผู้ติดตั้งเครื่องมือวัดโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติของไทย ตามรายงานแจ้งเหตุการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายที่บก.ปอศ. ได้รับแจ้งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
บริษัทที่บก.ปอศ. เข้าตรวจจับในครั้งนี้ เป็นบริษัทที่ปรึกษาและผู้จัดจำหน่ายเครื่องมือวิศวกรรมโครงสร้างพื้นฐานรายสำคัญให้แก่หน่วยงานภาครัฐของไทยหลายแห่ง ได้แก่ หน่วยงานในสังกัดกรมชลประทาน และหน่วยงานในภาคสาธารณูปโภคด้านพลังงานของประเทศ
จากการสอบสวนพบว่า บริษัทฯดังกล่าวได้ใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซนส์) โดยเฉพาะซอฟต์แวร์ AutoCAD 2018 และ AutoCAD 2019 ในการออกแบบพิมพ์เขียวที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือวัดเฉพาะทาง รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับตรวจสอบความเสถียรของพื้นดิน ความสมบูรณ์ของโครงสร้าง และมาตรวัดเฉพาะอื่น ๆ โดยมีจำนวนซอฟต์แวร์ที่ไม่มีไลเซนส์ ถูกพบรวม 8 โปรแกรม คิดเป็นมูลค่าทั้งหมด 1,272,000 บาท
บก.ปอศ. ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการจับกุมกรณีการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย โดยระบุว่า “เพื่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ บก.ปอศ. มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทที่ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย ทุกบริษัท โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจผู้จัดหาผลิตภัณฑ์และบริการให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ควรปฏิบัติตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยและใช้เฉพาะซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมายเท่านั้น”
ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 บก.ปอศ. เข้าจับกุมบริษัทที่ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายจำนวน 104 แห่ง โดยพบการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายกว่า 500 รายการ รวมมูลค่าละเมิดลิขสิทธิ์สูงกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งการจับกุมล่าสุดนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสำคัญของบก.ปอศ.ในการเดินหน้าปราบปรามและต่อต้านการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายทั่วประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่อาชญากรรมทางไซเบอร์ยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพุ่งเป้าโจมตีองค์กรที่มีช่องโหว่ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก
ทั้งนี้ในปี 2565 ที่ผ่านมา บก.ปอศ. ได้เข้าดำเนินคดีกับองค์กรธุรกิจที่ต้องสงสัยว่าใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายรวม 272 ราย โดยพบว่าองค์กรเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมวิศวกรรม การก่อสร้าง และการออกแบบ ซึ่งใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในการออกแบบอาคารและโครงการพื้นฐานสำคัญทั่วประเทศ ได้แก่ ซอฟต์แวร์ Autodesk, Dassault Systems, Siemens และอื่น ๆ อีกมากมาย
นับว่าเป็นเรื่องค่อนข้างน่าตกใจที่กว่าร้อยละ 80 ขององค์กรที่ถูกจับกุมโดยบก.ปอศ. ไม่ได้จัดซื้อซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของไทยอย่างชัดเจน และถือเป็นคดีอาญา ในขณะที่อีกร้อยละ 20 ขององค์กรที่ถูกจับกุมมีการใช้ซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิอย่างไม่ถูกต้องครบถ้วน ซึ่งหมายถึงองค์กรเหล่านี้มีจำนวนซอฟต์แวร์ที่ถูกลิขสิทธิ์เพียงไม่กี่ไลเซนส์ และมีการทำซ้ำ ทำสำเนาซอฟต์แวร์ที่ผิดกฎหมายอีกมากมาย เมื่อธุรกิจหรือองค์กรใช้ซอฟต์แวร์ที่มีช่องโหว่ดังกล่าว ระบบต่าง ๆ ในองค์กรก็เสี่ยงที่จะถูกโจมตีได้โดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่บริษัทเหล่านี้มีส่วนร่วมในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ มันจะไม่เพียงแต่เป็นอันตรายต่อการดำเนินงานและข้อมูลของบริษัทเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สำคัญต่อความปลอดภัยของสาธารณะด้วย ดังนั้นการปฏิบัติตามข้อกำหนดการใช้งานซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องตามกฎหมายจึงไม่ใช่แค่ภาระผูกพันทางกฎหมายเท่านั้น แต่ถือเป็นขั้นตอนพื้นฐานที่องค์กรธุรกิจควรทำเพื่อปกป้องธุรกิจของพวกเขา และที่สำคัญที่สุดคือการปกป้องความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานและประชาชนต่อภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น
บก.ปอศ. เดินหน้าประสานความร่วมมือกับองค์กรธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับกรณีการใช้ซอฟต์แวร์ที่ผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรต่าง ๆ เข้าใจหน้าที่และความรับผิดชอบของพวกเขาในการปฏิบัติตามกฎหมายไทยอย่างเคร่งครัด ความร่วมมือเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนากลยุทธ์ แบ่งปันข้อมูลเชิงลึก และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการปฏิบัติตามข้อกำหนดของซอฟต์แวร์แก่ภาคธุรกิจของไทย
ด้วยนโยบายการรณรงค์ที่เข้มงวดและมาตรการการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ที่เคร่งครัดมากขึ้นของบก.ปอศ. ส่งผลให้จำนวนธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในประเทศไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยลดลงร้อยละ 28 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 คิดเป็นจำนวนบริษัทที่ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายทั้งหมด 104 แห่ง เทียบกับในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ที่พบจำนวนบริษัทที่ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายทั้งหมด 144 แห่ง
บก.ปอศ. ได้ให้ข้อสรุปว่า “จำนวนธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในประเทศไทยที่ลดลง สะท้อนถึงมาตรการด้านกฎระเบียบที่มีประสิทธิภาพและพันธกิจความมุ่งมั่นของบก.ปอศ. ในการปราบปรามต่อต้านการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง แต่ในขณะเดียวกัน บก.ปอศ. จะยังคงเดินหน้าอย่างเต็มกำลังในการผลักดันมาตรการนโยบายการทำงานที่แข็งแกร่งเพื่อรักษากฎระเบียบการใช้ซอฟต์แวร์และปกป้องความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานและประชาชนชาวไทยต่อไป”