‘Prevention is better than cure’ หรือ “การป้องกันไว้ดีกว่าแก้” นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ (หมอแอมป์) นายกสมาคมแพทย์ฟื้นฟูสุขภาพและส่งเสริมการศึกษาโรคอ้วน กรุงเทพ (BARSO) และประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก กล่าวถึงวลีจากนักปรัชญาชาวดัทช์ (Desiderius Erasmus) ซึ่งถูกยึดเป็นหลักการพื้นฐานของการดูแลสุขภาพในยุคสมัยใหม่ เพราะการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง (Wellness) มีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีความสุข (Happiness) ย่อมดีกว่าความอ่อนล้าและทรมานที่อาจมาพร้อมความเจ็บป่วย (Sickness)
จากรายงาน Noncommunicable Diseases Progress Monitor 2022 ขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) ผู้คนทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) มากถึง 74 % หรือคิดเป็น 45 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2563 ส่งผลให้ในปัจจุบันเวชศาสตร์ป้องกัน (Preventive Medicine) ศาสตร์ทางการแพทย์ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันโรค เพื่อการดูแลสุขภาพองค์รวม เข้ามามีบทบาทในการดูแลสุขภาพในยุคปัจจุบันมากยิ่งขึ้น การตรวจสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive Check-up) ช่วยเปิดโอกาสให้สามารถคัดกรองโรคและความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนและปัญหาทางสุขภาพร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ข้อมูลจากสถาบันโกลบอลเวลเนส (Global Wellness Institute; GWI) รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2563 ภาคสาธารณสุข เวชศาสตร์ป้องกัน และการแพทย์เฉพาะบุคคล (Public Health, Prevention, & Personalized Medicine) สร้างรายได้ 375,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีภาคสาธารณสุขและเวชศาสตร์ป้องกัน (Public Health and Preventive Medicine) ถือครองตลาดสูงถึง 92% คิดเป็นมูลค่า 344,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการแพทย์เฉพาะบุคคล (Personalized Medicine) 31,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ถึงแม้การแพทย์เฉพาะบุคคลจะมีมูลค่าตลาดน้อยกว่า แต่ระหว่างปี พ.ศ. 2562 – 2563 กลับมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 11% จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้คนทั่วโลกต่างหันมาให้ความสนใจการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันมากยิ่งขึ้น
คุณหมอแอมป์เปรียบเทียบสุขภาพเหมือนกับรถยนต์ บางคนขับรถคันโปรดไปโดยไม่เคยตรวจเช็คระยะ เมื่อวันหนึ่งรถเกิดความเสียหาย ก็ต้องเสียเวลา เสียเงินทองไปกับการซ่อมแซม ยังดีที่รถยนต์ยังมีอะไหล่สำรองทดแทน แต่สุขภาพของคนเรานั้น เมื่อเกิดความเสียหาย เราไม่มีอะไหล่ทดแทน แม้รักษาได้ แต่ไม่อาจกลับมามีสภาพดีสมบูรณ์แข็งแรงได้เหมือนเดิม
การตรวจสุขภาพเชิงป้องกัน ก้าวหน้าไกลกว่าการตรวจเช็คระยะรถยนต์ตามปกติ แต่เหมือนกับการตรวจสภาพรถแข่งโดยทีมผู้เชี่ยวชาญที่รู้ข้อมูลของรถคันนี้อย่างละเอียด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของรถยนต์ให้ทำงานได้อย่างเต็มที่ และทำให้รู้ว่ารถคันนี้จะวิ่งไปได้ไกลมากแค่ไหน
เพราะ “สุขภาพคือสมบัติที่สำคัญที่สุด” คุณหมอแอมป์กล่าว เรามีครอบครัวที่เรารัก มีพ่อแม่ มีลูก มีคนที่เราห่วงใย เพราะฉะนั้นรถยนต์คันนี้จะพังไม่ได้ การตรวจสุขภาพเชิงป้องกันจึงเหมือนกับการนำร่างกายที่รักของเราไปตรวจเช็คกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างละเอียดครบถ้วน นำไปใช้วางแผนรักษาสุขภาพ ให้อยู่อย่างแข็งแรง ยืนยาว อย่างมีคุณภาพ
การตรวจสุขภาพเชิงป้องกัน มุ่งเน้นที่การดูแลคนสุขภาพดีไม่ให้เจ็บป่วย ต่างกับการรักษาโรคที่เป็นการดูแลคนป่วยให้หายดี ฉะนั้นการตรวจสุขภาพเชิงป้องกัน จะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับ อายุ เพศและสภาวะของร่างกาย ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะประเมินประวัติสุขภาพโดยละเอียด เพื่อวางแผนการตรวจสุขภาพ ตลอดจนการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลมากที่สุด
ในยุคปัจจุบันที่วิทยาศาสตร์การแพทย์พัฒนาไปอย่างมาก การตรวจสุขภาพเชิงป้องกัน จึงมีหัวข้อต่างๆมากมาย ยกตัวอย่างดังนี้
- การตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable disease; NCDs) ได้แก่ โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจ, โรคมะเร็ง, โรคถุงลมโป่งพอง, โรคอ้วน กลุ่มโรคเหล่านี้มักมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมเสี่ยงในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ขาดการออกกำลังกาย การสูบบุหรี่หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไปจนถึงความเครียดเรื้อรัง (Chronic stress) ที่สั่งสมเป็นเวลานาน การตรวจสุขภาพด้วยวิธีการเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ ไปจนถึงการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยมาช่วย เช่น MRI, CT scan, DEXA scan เป็นต้น ช่วยให้สามารถระบุภาวะสุขภาพในปัจจุบัน รวมถึงช่วยสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพ และการมีพฤติกรรมที่ดี อีกทั้งช่วยให้ทีมแพทย์วางแผนการรักษาเพื่อป้องกันการเกิดโรคในอนาคต
การตรวจคัดกรองโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่
- การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อทำการคัดกรองโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ซึ่งเกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin resistance) โดยทำการคัดกรองระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร และระดับน้ำตาลสะสม (Glycated hemoglobin A1C; HbA1C) ร่วมกับระดับฮอร์โมนอินซูลินในเลือด (Fasting Insulin) เพื่อใช้ในการวินิจฉัยหรือติดตามภาวะดื้อต่ออินซูลิน แม้ว่ายังไม่เคยมีอาการแสดงถึงโรคเบาหวานมาก่อนก็ตาม
- การวัดระดับไขมันในเลือด คอเลสเตอรอลรวม (Total cholesterol), ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride), ไขมันแอลดีแอล (LDL), และไขมันเฮชดีแอล (HDL), และการตรวจโปรตีนซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของคอเลสเตอรอล ได้แก่ Apolipoprotein A, Apolipoprotein B, Lipoprotein (a) ทำให้ทราบความเสี่ยงทางด้านสุขภาพ ระดับไขมันที่สูงเป็นระยะเวลานาน นำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease) ทั้งโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต และการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในประเทศไทย
- ความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด ด้วยการตรวจ High Sensitivity C-Reactive Protein (hsCRP), ค่าการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง (ESR), ไฟบริโนเจน (Fibrinogen) และ เฟอร์ริติน (Ferritin) เป็นค่าบ่งชี้การอักเสบ หากค่าดังกล่าวในเลือดเพิ่มสูงขึ้น จะสัมพันธ์กับความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ, การตรวจวัดระดับของโฮโมซิสเตอีน (Homocysteine) เพราะระดับโฮโมซิสเตอีนที่สูงกว่าค่าปกติ จะทำลายผนังด้านในของหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดขนาดเล็ก เพิ่มความเสี่ยงต่อการอุดตันของหลอดเลือด
- การตรวจค่าการทำงานของตับ จากเอนไซม์ AST (SGOT) และ ALT (SGPT) ที่ร่างกายสร้างขึ้นเมื่อตับเกิดความเสียหาย เอนไซม์ Alkaline phosphatase (ALP), Gamma GT (GGT) และบิลิรูบิน (bilirubin) เพื่อดูความผิดปกติของตับและการอุดตันของท่อน้ำดี ร่วมกับการตรวจทางรังสีที่ตับและช่องท้อง ได้แก่ อัลตราซาวด์ช่องท้อง (Abdominal Ultrasound) โดยใช้คลื่นความถี่ และการตรวจด้วยเครื่องแม่เหล็กไฟฟ้า หรือการ MRI ช่องท้องความละเอียดสูงแบบไม่ฉีดสี (MRI Whole Abdomen Non-contrast) ช่วยในการประเมินความผิดปกติต่างๆ เช่น เปอร์เซ็นต์ไขมันพอกตับ, ภาวะไขมันพอกตับ (Fatty Liver) และภาวะไขมันพอกตับอ่อน (Fatty Pancreas), ก้อนเนื้อที่ผิดปกติ หรือเนื้องอกที่อาจพัฒนากลายเป็นมะเร็ง, ความผิดปกติที่ท่อน้ำดีและนิ่วในถุงน้ำดี, ฝีในตับ และการไหลเวียนของเส้นเลือดภายในช่องท้อง
การตรวจสุขภาพตับอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้สามารถวางแผนป้องกันไม่ให้ตับแข็ง และตับอ่อนแข็ง ซึ่งถือเป็นความเสียหายอย่างถาวรของเนื้อเยื่อตับ รวมถึงช่วยให้ค้นพบมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อให้เกิดการรักษาได้อย่างทันท่วงทีไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของมะเร็ง
- การตรวจการทำงานของไต สามารถประเมินได้จากโปรตีนที่รั่วออกมาในปัสสาวะ (Microalbuminuria), ระดับ BUN (Blood Urea Nitrogen) ในเลือด และค่าอัตราการกรองของไต หรือ eGFR (Estimated Glomerular Filtration Rate) หากไตมีความผิดปกติอาจพบโปรตีนในปัสสาวะ ค่า BUN เพิ่มสูงขึ้น หรืออัตราการกรองของไตเริ่มลดลง
- การตรวจวัดระดับวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ
วิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ (Vitamins, Minerals and Antioxidant) ตัวอย่างเช่น วิตามินเอ, วิตามินซี, วิตามินอี, เบตาแคโรทีน, แอลฟาแคโรทีน, ไลโคปีน (Lycopene) , ลูทีน (Lutein), ซีแซนทีน (Zeaxanthin) ล้วนมีความสำคัญต่อระบบการทำงานในร่างกาย ทำหน้าที่ป้องกันหรือชะลอกระบวนการเกิดอนุมูลอิสระ (Free radicals) ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเสื่อมสภาพภายในร่างกาย
ปัจจุบันผู้คนหันมารับประทานวิตามินและแร่ธาตุเสริมกันเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากร่างกายของแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน การตรวจระดับวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระในเลือด หรือ การแพทย์แบบจำเพาะบุคคล (Precision and Personalized Medicine) ช่วยให้สามารถเลือกเสริมตามที่ร่างกายต้องการได้อย่างตรงจุด
“รายการไหนที่ขาดเราสามารถแก้ไขโดยการปรับการรับประทานอาหาร ให้ตรงตามผลเลือดของเรา เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ รายการไหนที่ระดับวิตามินในเลือดดีอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องไปเสริมจนเกิดโทษแก่ร่างกาย” คุณหมอแอมป์อธิบายให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น
ดังนั้นในยุคที่ประชาชนนิยมการรับประทานวิตามินและอาหารเสริมกันมาก แต่ยังมีคำถามสงสัยว่าควรรับประทานวิตามินตัวไหน คุณหมอแอมป์ให้คำแนะนำว่า “เราควรรู้ก่อนว่าร่างกายเราขาดวิตามินและสารอาหารตัวใดบ้าง หากการรับประทานอาหารปกติยังไม่สามารถชดเชยสารอาหารที่ขาดได้ แนะนำให้เลือกวิตามินที่ปรับมาจากผลเลือดของเรา เพราะการรับประทานวิตามินมากไปหรือน้อยไปก็ก่อให้เกิดผลเสียได้เช่นกัน”
การตรวจเลือดช่วยป้องกันการได้รับวิตามินแร่ธาตุที่มากเกินความจำเป็น ช่วยให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญรู้ถึงสภาวะสุขภาพปัจจุบัน และออกแบบอาหารเสริมเฉพาะบุคคล (Customized Supplements) ในการรักษาระดับสารอาหารต่างๆ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เสริมสร้างร่างกายให้ทำงานได้อย่างเป็นปกติ
- การตรวจคัดกรองมะเร็งทั้งในเพศหญิงและเพศชาย
เนื่องจากมะเร็งมักจะไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor marker) จากเลือด จึงมีส่วนช่วยคัดกรองความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิด เช่น
- ค่า Alpha-fetoprotein (AFP) ที่มักมีค่าสูงกว่าปกติในผู้ป่วยมะเร็งตับ (Hepatocellular carcinoma) รวมถึงมะเร็งของรังไข่ หรือ อัณฑะ ชนิด embryonal cell carcinoma
- ค่า Carcinoembryonic antigen (CEA) ซึ่งมักสูงผิดปกติผู้ป่วยมะเร็งของระบบทางเดินอาหารต่างๆ, มะเร็งตับอ่อน, มะเร็งปอด, มะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม โดยเฉพาะ มะเร็งลำไส้ใหญ่ จะพบ ค่า CEA สูง บ่อยกว่ามะเร็งชนิดอื่นๆ
- ค่า Prostate-specific antigen (PSA) ในเพศชายเพื่อดูความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากและภาวะต่อมลูกหมากโตที่ไม่ใช่มะเร็ง (benign prostatic hyperplasia, BPH)
- ค่า Cancer antigens (CA15-3) เพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านมในผู้หญิง
- ค่า Cancer antigens (CA125) เพื่อคัดกรองมะเร็งรังไข่ชนิด non-mucinous type
- ค่า Cancer antigens (CA19-9) เพื่อคัดกรองมะเร็งตับอ่อน และมะเร็งของท่อน้ำดี
การตรวจคัดกรองมะเร็งอื่นๆ ได้แก่
- การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test) เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดเข้าไปในช่องคลอด เพื่อเก็บเซลล์จากมดลูกส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติ หรือเซลล์ที่อาจพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็ง รวมถึงการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV (Human papillomavirus) ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้
- EDIM (Epitope Detection in Monocytes) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ช่วยในการคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งในระยะเริ่มแรก (Early detection cancer) โดยใช้การตรวจเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดโมโนไซต์ที่ถูกกระตุ้นกลายเป็นแมคโครฟาจ (macrophage) ซึ่งทำหน้าที่จับกินสิ่งแปลกปลอมทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น แบคทีเรีย เซลล์เสื่อมสภาพ รวมถึงเซลล์มะเร็ง จึงสามารถพบชิ้นส่วนของเซลล์ที่ผิดปกติอยู่ภายในเซลล์แมคโครฟาจได้ ส่วนสำคัญในวิธีการตรวจวัดนี้จะใช้ตัวบ่งชี้ 2 ตัว คือ DNaseX และ TKTL1 Gene เพื่อนำมาคำนวณเป็นคะแนน ใช้ดูความเสี่ยงของการมีเซลล์ผิดปกติที่มีโอกาสพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็งได้
- การตรวจสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด
นอกจากการตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดแล้ว การตรวจสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดเพื่อให้ละเอียดมากขึ้นนั้นยังมีอีกหลายวิธี เช่น
– การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram; EKG) เพื่อดูกระแสไฟฟ้าที่หัวใจผลิตออกมาขณะหัวใจหดและคลายตัวว่ามีความผิดปกติหรือไม่
– การตรวจสมรรถภาพการไหลเวียนของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (Ankle Brachial Index; ABI) เพื่อค้นหาหลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน
– การทดสอบสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย (Exercise stress test; EST) เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย
– การตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง (Echocardiogram; ECHO) เพื่อประเมินการทำงานของหัวใจ เช่น การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นต้น
– การตรวจหาคราบหินปูนที่หลอดเลือดแดงของหัวใจ (Coronary Artery Calcium Scan; CAC) สามารถทำได้โดยไม่ต้องฉีดสี (Non-contrast) เพื่อใช้บ่งชี้ความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยแปลผลออกมาเป็นตัวเลข ซึ่งตัวเลขที่มากขึ้นนั้น หมายถึงความเสี่ยงที่หลอดเลือดหัวใจจะตีบหรือตันมากขึ้น
– การตรวจอัลตราซาวน์เพื่อตรวจดูหลอดเลือดแดงคาโรติด (Ultrasound Carotid Artery) บริเวณคอทั้งสองข้าง เพื่อดูการไหลเวียนของเลือด และคราบหินปูน (Calcified plaque) ทำให้เห็นว่าหลอดเลือดมีการตีบตันหรือไม่
- การตรวจความหนาแน่นของมวลไขมัน มวลกล้ามเนื้อและมวลกระดูก
การตรวจวัดองค์ประกอบร่างกาย (Body Composition Analysis) เพื่อวิเคราะห์ความหนาแน่นของมวลกระดูก มวลไขมัน และมวลกล้ามเนื้อ ด้วยเครื่อง DEXA scan ทำให้ทราบข้อมูลของร่างกายมากกว่าการใช้น้ำหนักตัวเพียงอย่างเดียว เนื่องจากคนที่มีน้ำหนักตัวเท่ากัน สามารถมีองค์ประกอบร่างกายที่แตกต่างกันได้ การตรวจวัดองค์ประกอบร่างกาย จึงเพิ่มความแม่นยำในการบ่งชี้ภาวะโรคอ้วน โดยในผู้ชายวัยกลางคน ไม่ควรมีเปอร์เซ็นต์ไขมันเกิน 28% และในผู้หญิง ไม่ควรเกิน 32 % รวมไปถึงการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก เพื่อดูความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) รวมถึงเพื่อรักษามวลกล้ามเนื้อให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมอยู่เสมอ ป้องกันการพลัดตกหกล้มที่อาจเกิดขึ้นได้
ภาพเครื่องตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกาย ภาพตัวอย่างผลการตรวจมวลกระดูก ไขมันและ (Dual Energy X-ray Absorptiometry; DEXA ) กล้ามเนื้อ โดยเครื่อง Dexa
สำหรับผู้ที่มีเปอร์เซ็นต์ไขมันเกินเกณฑ์ที่กำหนด สามารถวางแผนร่วมกับแพทย์และทีมงาน Lifestyle Medicine ในการดูแลรักษา ลดมวลไขมันได้อย่างเหมาะสมกับสุขภาพร่างกายของแต่ละบุคคลต่อไป
- การตรวจระดับฮอร์โมนต่างๆ
ฮอร์โมนคือ สิ่งที่ร่างกายสร้างขึ้น เพื่อใช้ในการสื่อสารไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย ในร่างกายมนุษย์มีฮอร์โมนมากกว่า 50 ชนิด ช่วยในการควบคุมกระบวนการต่างๆ ในร่างกาย
- ฮอร์โมนเพศ เช่น เทสโทสเตอโรน (testosterone), เอสโตรเจน (Estrogen), โปรเจสเตอโรน (Progesterone) อาจเสียสมดุลตามอายุที่เพิ่มขึ้นและก้าวเข้าสู่วัยทอง การขาดสมดุลของฮอร์โมนเพศ ส่งผลต่อทั้งร่างกายและจิตใจ เช่น ร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ หงุดหงิด อ่อนเพลีย ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน นอนหลับไม่สนิท
- ฮอร์โมนการเผาผลาญ มีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวและปัญหาโรคอ้วน ไม่ว่าจะเป็นคอร์ติซอล (Cortisol) ที่สามารถกระตุ้นความหิว, เลปติน (Leptin) ที่เป็นฮอร์โมนอิ่ม ควบคุมความอยากอาหาร, โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ช่วยฟื้นฟูและซ่อมแซมสภาพเซลล์ของร่างกาย มีส่วนช่วยในการชะลอวัย, ไทรอยด์ฮอร์โมน (Thyroid Hormone) ช่วยควบคุมการเผาผลาญพลังงานและระดับอุณหภูมิของร่างกาย
- ฮอร์โมนการนอนหลับ เป็นตัวควบคุมคุณภาพการนอนหลับและนาฬิกาชีวภาพ (Circadian rhythm) เพื่อให้ร่างกายได้มีโอกาสฟื้นฟูและซ่อมแซมในช่วงนอนหลับ เช่น เมลาโทนิน (Melatonin), คอร์ติซอล (Cortisol), และโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) เป็นต้น
- ฮอร์โมนความเครียด บ่งบอกสภาวะความเครียดของจิตใจเราได้ ผลิตจากต่อมหมวกไต (Adrenal Gland) มีฮอร์โมนที่สำคัญอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ คอร์ติซอล (Cortisol) หากพบในระดับที่สูงเกินไป แสดงว่ามีภาวะเครียด และอีกตัวหนึ่งคือ ฮอร์โมนที่มีชื่อว่า DHEA (Dehydroepiandrosterone) เป็นฮอร์โมนต้านความเครียด คนที่มีฮอร์โมนคอร์ติซอลสูง และฮอร์โมน DHEA ต่ำ จะมีความเสี่ยงให้เกิดสารอนุมูลอิสระ(Free radical) มากขึ้น ก่อให้เกิดการอักเสบภายในร่างกายมากขึ้น
การตรวจระดับฮอร์โมนต่างๆ จะทำให้ทราบว่า ฮอร์โมนใดขาดสมดุล เพื่อจะนำไปสู่การฟื้นฟู ด้วยการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต การเสริมยาและวิตามินต่างๆ ไปจนถึงการวางแผนดูแลสุขภาพให้แข็งแรงในอนาคต
- การตรวจสายตาและการได้ยิน
ในปัจจุบันผู้คนใช้เวลาอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมง จนอาจลืมไปว่าแสงสีฟ้าจากหน้าจอส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น คุณภาพการนอนหลับที่ลดลง เพราะแสงสีฟ้ารบกวนการหลั่งเมลาโทนินและนาฬิกาชีวภาพ (circadian rhythm) การนอนหลับที่ไม่สนิทอาจนำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน และยังส่งผลเสียต่อจอประสาทตาโดยตรง
เพราะเรามีตาและหูเพียงคู่เดียวในชีวิต การตรวจสุขภาพตาและหูเป็นประจำจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก การตรวจสุขภาพสายตาเบื้องต้น เพื่อตรวจสอบปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตา เช่น ภาวะเบาหวานขึ้นตา หรือผลจากความดันโลหิตสูง, การเกิดต้อต่างๆ เช่น ต้อหิน (Glaucoma), ต้อกระจก (Cataract), ต้อลม (Pinguecula), ต้อเนื้อ (Pterygium) เป็นต้น และการตรวจระดับการได้ยิน เป็นการตรวจการทำงานของหูและระบบโสตประสาทเพื่อหาระดับการได้ยิน การทดสอบความสามารถในการมองเห็นและการได้ยิน ช่วยให้มีข้อมูลเบื้องต้นในกรณีที่มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับดวงตาและหูที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
- การตรวจสุขภาพผิวพรรณ
การตรวจวิเคราะห์สภาพผิว (Skin Analysis) ด้วยเครื่อง Complexion analysis photography system เป็นการระบุประเภทของผิวที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล ทำให้ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาผิว ข้อดี และ ข้อบกพร่อง โดยกล้องมีความละเอียดสูง ทำให้สามารถตรวจวิเคราะห์ผิวชั้นบนและผิวชั้นที่ลึกลงไป โดยจะสามารถเห็นปริมาณรอยดำ รอยแดง ฝ้า กระ การอักเสบของผิว ความกว้างของรูขุมขน ริ้วรอย สารที่ทำให้เกิดสิวบนใบหน้า UV Spots ความไม่สม่ำเสมอของสีผิว และยังสามารถบอกอายุผิวที่แท้จริงของแต่ละบุคคลได้อีกด้วย เพื่อให้แพทย์สามารถให้คำแนะนำและการรักษาที่ตรงจุด รวมถึงเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผิวมากที่สุดอีกด้วย
- การตรวจรหัสพันธุกรรม (Genetic Testing)
ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยเซลล์ต่างๆ หลายล้านเซลล์ โดยในแต่ละเซลล์จะมีสายพันธุกรรมซึ่งเป็นตัวกำหนดลักษณะความแตกต่างเฉพาะบุคคล การตรวจพันธุกรรมช่วยให้ค้นหาความผิดปกติของยีนลึกลงไปถึงดีเอ็นเอ (DNA) ช่วยประเมินความเสี่ยงสุขภาพในการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน รวมถึงยีนยังเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมสุขภาพที่ส่งผลต่อการมีอายุที่ยืนยาว ช่วยให้เราสามารถวางแผนการดูแลสุขภาพได้ตรงจุดและเหมาะสมกับบุคคลมากยิ่งขึ้น (Personalized Medicine)
การตรวจสุขภาพเชิงป้องกัน ทำให้ค้นพบสาเหตุและความผิดปกติของร่างกายได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการแสดง ช่วย ให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญมีข้อมูลสุขภาพอย่างละเอียด เพื่อนำไปสู่การวางแผนปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างมีคุณภาพ ตามหลักเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle medicine) โดยมีแพทย์และทีมสหวิชาชีพเข้ามาร่วมดูแลอย่างใกล้ชิด (Health and wellness coaches; HWCs) อาทิ นักกำหนดอาหาร นักกายภาพบำบัด เทรนเนอร์การออกกำลังกาย ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เป็นต้น เป็นการออกแบบการดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล (Personalised care) แตกต่างจากการรักษาทั่วไป
ในบทความวิชาการของคุณหมอ Perlman และคณะ จาก Mayo Clinic ได้กล่าวถึงความหมายของ Health and wellness coaching (HWCs) ไว้ว่า เป็นการดูแลโดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ช่วยให้ผู้ป่วยกำหนดเป้าหมายของตัวเอง ร่วมกับกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน และติดตามการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม ทั้งหมดนี้อาศัยความสัมพันธ์อันดี ระหว่างผู้ป่วยกับทีมสหวิชาชีพ โดยทีมสหวิชาชีพเป็นทีมวิชาชีพทางด้านสาธารณสุขที่ได้รับการอบรมเกี่ยวกับทฤษฎีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การสร้างแรงจูงใจ และเทคนิคการสื่อสาร เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพอย่างยั่งยืน เรียกได้ว่า เป็น Personalised Care
แตกต่างจากการพบแพทย์แบบทั่วไป การดูแลในรูปแบบ Health and wellness coaching อาจใช้เวลาเฉลี่ย 45-60 นาทีต่อสัปดาห์ เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับผู้ป่วยมากที่สุด
บทความวิชาการในวารสาร American Journal of Lifestyle Medicine ที่รวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับ Health and wellness coaching ได้สรุปผลการวิจัยว่า วิธีการ Health and wellness coaching มีส่วนช่วยลดน้ำหนัก ลดค่าความดันโลหิต ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและโรคเบาหวานได้
ดังนั้นคุณหมอแอมป์ จึงมีเคล็ดลับง่ายๆในการเริ่มต้นดูแลสุขภาพ ดังนี้
- การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย
- การออกกำลังกาย เสริมสร้างสมรรถภาพทางกายและการใช้ชีวิต
- การนอนหลับที่มีคุณภาพ ลดกิจกรรมที่ทำให้นอนหลับไม่สนิท เข้าใจธรรมชาติการนอนหลับของร่างกาย
- การจัดการกับความเครียด สร้างสภาวะทางอารมณ์ที่ดี มองโลกในเชิงบวก
- การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมอันตรายต่างๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เพราะการมีสุขภาพที่ดี มีอายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพ ลดความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ ต้องอาศัยการดูแลสุขภาพอย่างครอบคลุมทุกมิติและเหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพื่อสุขภาพกาย สุขภาพใจที่แข็งแรง
คุณหมอแอมป์ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า “เพราะสุขภาพดี คือ สมบัติที่สำคัญที่สุด” นั่นเอง
BDMS Wellness Clinic มุ่งมั่นพัฒนาและวิจัยเรื่องสุขภาพ เพื่อมอบเป็นของขวัญสุขภาพแก่คนไทยทุกคน เพราะสุขภาพที่ดี คือของขวัญที่ดีที่สุด Live longer, Healthier and Happier
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก (BDMS Wellness Clinic) ไลน์ : @bdmswellnessclinic or https://lin.ee/rdIDv1A เว็บไซต์ : www.bdmswellness.com
แหล่งอ้างอิง
- Noncommunicable diseases progress monitor 2022. Geneva: World Health Organization; 2022
- Bloom, D.E., Cafiero, E.T., Jané-Llopis, E., Abrahams-Gessel, S., Bloom, L.R., Fathima, S., Feigl, A.B., Gaziano, T., Mowafi, M., Pandya, A., Prettner, K., Rosenberg, L., Seligman, B., Stein, A.Z., & Weinstein, C. (2011). The Global Economic Burden of Noncommunicable Diseases. Geneva: World Economic Forum.
- Lobo V, Patil A, Phatak A, Chandra N. Free radicals, antioxidants and functional foods: Impact on human health. Pharmacognosy reviews. 2010 Jul;4(8):118.
- Cleveland Clinic medical professional. Hormones: What They Are, Function & Types [Internet]. Cleveland Clinic. 2022 [cited 30 June 2022]. Available from: www.my.clevelandclinic.org
- Vinall M. Your Hormones May Be the Key to Getting a Solid Night’s Sleep. Here’s How [Internet]. Healthline. 2021 [cited 30 June 2022]. Available from: www.healthline.com
- Rutkowski, K., Sowa, P., Rutkowska-Talipska, J., Kuryliszyn-Moskal, A., & Rutkowski, R. (2014). Dehydroepiandrosterone (DHEA): hypes and hopes. Drugs, 74(11), 1195-1207.
- Alhadi EDOO M, Chutturghoon V, WUSU-ANSAH G, ZHU H, Yang ZHEN T, Yang XIE H et al. Serum Biomarkers AFP, CEA And CA19-9 Combined Detection for Early Diagnosis of Hepatocellular Carcinoma. Iranian Journal of Public Health. 2019;.
- Johns Hopkins Medicine. Common Liver Tests [Internet]. Hopkinsmedicine.org. 2022 [cited 30 June 2022]. Available from: www.hopkinsmedicine.org
- Virginia A. Moyer, MD, MPH. Screening for Chronic Kidney Disease: U.S. Preventive Services Task Force Recommendation Statement. Annals of Internal Medicine. 2012;157(8):I.
- Harvard Health Publishing. Blue light has a dark side – Harvard Health [Internet]. Harvard Health. 2020 [cited 2 August 2022]. Available from: www.health.harvard.edu
- Perlman A, Abu Dabrh A. Health and Wellness Coaching in Serving the Needs of Today’s Patients: A Primer for Healthcare Professionals. Global Advances in Health and Medicine. 2020;9:216495612095927.
- Sforzo G, Kaye M, Harenberg S, Costello K, Cobus-Kuo L, Rauff E et al. Compendium of Health and Wellness Coaching: 2019 Addendum. American Journal of Lifestyle Medicine. 2019;14(2):155-168.